วิจัยกสิกรฯ คาดกนง.นัดแรกปีนี้คงดบ.นโยบายที่ 2.75% ติดตามผลกระทบนอกปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 7, 2013 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) นัดแรกของปีนี้ ในวันที่ 9 ม.ค.56 มีโอกาสที่ กนง.จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% เพื่อรักษาแรงส่งของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากเหตุผลที่สำคัญ 4 ประการ ดังนี้

1. บรรยากาศเศรษฐกิจโลกปรับตัวไปในทิศทางเชิงบวกมากขึ้น โดย ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจประเทศแกนหลักของโลกเริ่มปรากฏสัญญาณในเชิงบวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน และสหรัฐฯ

สำหรับจีนนั้น ข้อมูลภาคการผลิตได้เริ่มกลับมาบ่งชี้ถึงการขยายตัวของกิจกรรมการผลิตอีกครั้ง นอกจากนี้ ข้อมูลภาคอสังหาริมทรัพย์คงทิศทางการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น หลังได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มของทางการจีนที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 53 ซึ่งปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ที่ดีขึ้น ผนวกกับแนวนโยบายของผู้นำใหม่ของจีนที่ยังคงสืบสานนโยบายที่คล้ายคลึงเดิม น่าจะเป็นตัวหนุนให้เศรษฐกิจจีนสามารถจะขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ และไม่น่าจะเกิดภาวะถดถอยรุนแรง

ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เห็นการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น โดยการจ้างงานในปี 55 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 150,000 ตำแหน่ง อีกทั้งกิจกรรมในภาคอสังหาก็มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นมาก นอกจากนี้ ข้อตกลงในการบรรเทาผลกระทบจากภาวะหน้าผาทางการคลังที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 56 จากการผ่านร่างกฎหมายเพื่อเลี่ยงภาวะ Fiscal Cliff โดยสภาคองเกรสของสหรัฐฯ น่าจะช่วยลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจออกนอกเส้นทางการขยายตัวลง ซึ่งปัจจัยบวกนี้น่าจะช่วยผ่อนคลายความกังวลต่อแนวโน้มการส่งออกไทยในช่วงเดือนอันใกล้นี้ได้

2. พัฒนาการของเศรษฐกิจไทยให้ภาพการขยายตัวที่ดีขึ้นตามลำดับ และเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล ทั้งนี้จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ย.55 บ่งชี้ถึงแรงส่งของการขยายตัวของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่รวมและไม่รวมทองคำที่กลับมาขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ฟื้นตัวขึ้น นอกเหนือไปจากการขยายตัวที่เร่งขึ้นของการใช้จ่ายในประเทศ ส่วนการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อทั่วไปจาก 2.74% ในเดือนพ.ย.55 มาอยู่ที่ 3.63% ในเดือนธ.ค.นั้น ส่วนหนึ่งสะท้อนผลของฐานและการทะยานขึ้นของราคาอาหารสดจากสภาวะอากาศแปรปรวน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยชั่วคราว

"เมื่อมองไปในไตรมาสแรกของปี 56 มีความเป็นไปได้ที่ภาคการส่งออกไทยน่าจะทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณบวกของเศรษฐกิจต่างประเทศ และแรงส่งจากทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรบางตัวที่เริ่มผงกหัวชัดเจนขึ้น ซึ่งเมื่อผนวกกับความต่อเนื่องของการใช้จ่ายในประเทศ ตามแรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐที่ยังคงประสิทธิผลอยู่ ก็น่าจะช่วยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้งไตรมาสแรกของปี 56 ยังคงภาพของการฟื้นตัวไว้ได้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

3. สถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศที่ประคองตัวได้ดังกล่าว น่าจะทำให้ ธปท.สามารถตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ เพื่อรอความชัดเจนทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ก่อนเลือกทิศทางนโยบายดอกเบี้ยที่เหมาะสมต่อไป โดยปัจจัยติดตามที่สำคัญในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ยังพุ่งเป้าหมายไปที่สหรัฐฯ โดยเฉพาะในประเด็นความชัดเจนของรายละเอียดการปรับลดรายจ่ายทางการคลัง เพื่อหลีกเลี่ยงเงื่อนไขการปรับลดรายจ่ายโดยอัตโนมัติที่ได้รับการต่ออายุจากสิ้นปี 55 ไปจนถึงเดือนก.พ.56 รวมถึงทางออกของปัญหาหนี้สาธารณะที่จะชนเพดาน (Debt Ceiling) ในเงื่อนเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

นอกจากนี้ ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์ในยุโรป อาทิ การเลือกตั้งของอิตาลีในเดือนก.พ.56 และแนวทางการเยียวยาภาคการธนาคารของสเปนที่ค่อนข้างอ่อนแอ เนื่องจากอาจมีนัยต่อความเชื่อมั่นของตลาดต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้ยูโรโซนในภาพรวม

4. ผลต่ออัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ไทย คาดว่าความเป็นไปได้ที่อาจมีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผนวกกับเงินฝากที่ไหลเข้าสู่ระบบธนาคารพาณิชย์มากในช่วงปลายปี 55 น่าจะทำให้การแข่งขันด้านราคาของเงินฝากพิเศษค่อนข้างนิ่งในช่วง 1-2 เดือนนี้

อย่างไรก็ตาม ตัวแปรที่จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันด้านราคาเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงต่อจากนั้น คงขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าในการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้หรือไม่และเพียงใด

ทั้งนี้ หากภาวะเศรษฐกิจเอื้ออำนวย ธุรกิจลูกค้าสินเชื่อเดินหน้าต่อไปได้ และกิจกรรมการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคยังมีความต่อเนื่อง ก็น่าจะผลักดันให้ความต้องการสินเชื่อขยายตัวในเกณฑ์ดี ซึ่งคงสนับสนุนให้กิจกรรมการดึงเงินฝากคึกคักขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลสามารถเดินหน้าโครงการลงทุนต่างๆ ได้ตามที่คาดหมายไว้ ซึ่งหมายความว่าภาพการแข่งขันด้านราคาของผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษมีโอกาสที่จะชัดเจนมากขึ้นตามไปด้วย

"การที่เศรษฐกิจโลกมีพัฒนาการเชิงบวกมากขึ้น และแรงส่งเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี น่าจะส่งผลให้ ธปท.สามารถใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการติดตามผลกระทบและต่อภาพที่ชัดเจนขึ้นจากความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Fiscal Cliff และสถานการณ์ในยุโรป" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ