สนพ.เร่งศึกษาโครงการ Energy Bridge เพิ่มความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 8, 2013 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สนพ.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดโครงการ Energy Bridge ซึ่งจะลงทุนเชื่อมโยงระหว่างชายฝั่งทะเลตะวันตก(ทะเลอันดามัน) กับชายฝั่งทะเลตะวันออก(อ่าวไทย) โดยจะลงทุนทำเฉพาะท่อน้ำมัน และมีคลังน้ำมันที่หัว-ท้ายท่อส่งน้ำมัน ซึ่งท่อส่งน้ำมันจะมีเรือขนถ่ายสินค้าทางทะเล และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก

ทั้งนี้ Energy Bridge จะสร้างผลพลอยได้ในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากต้องมีการสร้างคลังทั้ง 2 ฝั่ง คือฝั่งทะเลอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งจะสอดคล้องกับการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของกระทรวงพลังงาน

สำหรับสถานที่ตั้งในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาแต่ใกล้จะได้ข้อสรุปแล้ว โดยมี 3 ทางเลือก คือ ทางเลือกแรก ที่ปากบารา-ขนอม ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีถนน 4 เลน ที่เกือบจะเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน โดยเหลืออีกเพียง 60 กิโลเมตร ก็จะเชื่อมได้ทั้งหมด

ทางเลือกที่สอง คือ โครงการที่ศึกษาแลนด์บริดจ์เดิม จากฝั่งทับละมุ จ.พังงา ไป จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งทางเลือกนี้มีผลการศึกษาไว้แล้ว

ทางเลือกที่สาม คือ นิคมอุตสาหกรรมทวาย ในประเทศเมียนมาร์ ที่ผ่าน จ.กาญจนบุรี ซึ่งหากโครงการนี้เกิดขึ้นจะมีการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ เพื่อเชื่อมฝั่งตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพ และระหว่างมอเตอร์เวย์ก็สามารถวางท่อส่งน้ำมันได้ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อดี-ข้อเสีย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ให้ครบทุกมิติ คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนม.ค.นี้จากนั้นจะนำเสนอให้ รมว.พลังงานพิจารณาต่อไป

นายสุเทพ กล่าวว่า สาเหตุที่ สนพ.ต้องศึกษาเรื่องดังกล่าว เพราะต้องเร่งสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ เนื่องจากในระยะยาวช่องแคบมะละกาจะขนส่งสินค้าได้เต็มความสามารถ ซึ่งสามารถรองรับเรือที่มาจากฝั่งแปซิฟิคได้สูงสุด 17 ล้านบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันมีการขนส่งอยู่ประมาณ 12-13 ล้านบาร์เรล/วัน จึงต้องหาเส้นทางอื่นเพิ่มเติมในการขนส่ง ประจวบเหมาะกับไทยอยู่ในยุทธ์ศาสตร์ที่ดี และได้มีการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์แล้วเพื่อขนส่งสินค้าจากฝั่งทะเลอันดามันมาฝั่งทะเลแปซิฟิคสำหรับรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิค คือ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มากในอนาคต

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการแบ่งส่วนมาจากโครงการแลนบริดจ์ หรือสะพานเศรษฐกิจของกระทรวงคมนาคม ซึ่งเดิมเป็นโครงการนี้จะดำเนินการครบวงจรทั้งท่าเรือน้ำลึก, ถนน, ทางรถไฟ, ท่อส่งน้ำมัน และท่อส่งก๊าซธรรมชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ