(เพิ่มเติม) ครม.ไฟเขียวมาตรการภาษีบรรเทาผลกระทบขึ้นค่าแรง-ตีกลับหักภาษี ณ ที่จ่าย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 8, 2013 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบมาตรการการคลังและการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

มาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ได้แก่ ให้นายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมและนิติบุคคลให้หักค่าใช้จ่ายส่วนต่างค่าแรงขั้นต่ำได้ 1.5 เท่า, ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และ ให้สามารถหักค่าเสื่อมเครื่องจักรใหม่ได้ร้อยละ 100 ในปีแรก

มาตรการปรับเพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท จากเดิม 150,000 บาทแรก เป็น 300,000 บาทแรก เพื่อลดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SMEs ที่มีรายได้น้อย และปรับโครงสร้างอัตราภาษีของ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลให้เท่าเทียมกัน

พร้อมทั้ง ปรับเพิ่มอัตราค่าเช่าที่พักและค่าอาหารในการฝึกอบรมของส่วนราชการให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและสภาวการณ์ปัจจุบัน, จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 5 ต่อเนื่องจากระยะที่ 4 ผ่านบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงิน ค้ำประกันรวม 240,000 ล้านบาท โดยยื่นรับคำขอค้ำประกันได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ระยะเวลาค้ำประกัน 7 ปี เพื่อสนับสนุน SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดหลักประกันให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อ โดยมีวงเงินค้ำประกันต่อรายสูงสุด 40 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปีของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ

ขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan) ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ประกอบด้วย (1) สินเชื่อเพื่อพัฒาเครื่องจักร และ (2) สินเชื่อเพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน ในวงเงินรวม 2 โครงการที่ 20,000 ล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดการอนุมัติสินเชื่อในวันที่ 23 เมษายน 2557 เป็นสิ้นสุดการขอรับสินเชื่อจาก ธพว. ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยให้วงเงินสินเชื่อรวมกันไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปีหรือ 7 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทสินเชื่อ และมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น 1 ปี ทั้งนี้ รัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ใน 2 ปีแรก และให้ ธพว. พิจารณาสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับจากวันที่ปิดรับคำขอ

และ ขยายระยะเวลาโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up) ออกไปอีก 3 ปี เป็นสิ้นสุดการขอรับสินเชื่อในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 แล ปรับเกณฑ์คุณสมบัติ SMEs จาก SMEs ที่ประกอบกิจการที่มีอายุกิจการไม่เกิน 2 ปี เป็นอายุกิจการไม่เกิน 3 ปี เพื่อช่วย SMEs ขนาดย่อมที่เพิ่งเริ่มกิจการให้เข้าถึงสินเชื่อ และคงค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 2.5 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อตลอดอายุการค้ำประกัน 7 ปี โดยรัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทน SMEs ในปีแรก จากเดิมร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 2.50

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กล่าวว่า มาตรการการคลังและการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่ SMEs สำหรับกำไรสุทธิ 150,000 บาทเป็น 300,000 บาท คาดว่าจะมี SMEs ที่ได้รับประโยชน์ ประมาณ 210,000 ราย มาตรการด้านการเงิน PGS5 คาดว่าจ ทำให้มี SMEs ได้สินเชื่อเพิ่ม 80,000 ราย สร้างสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 424,800 ล้านบาท เกิดการจ้างงานรวม 320,000 คน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2.328 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการที่เผยแพร่ออกมาดังกล่าว ไม่มีมาตรการลดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 2% ตามที่กระทรวงการคลังได้นำเสนอ

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า มาตรการบางข้อที่เอกชนเสนอมาเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่สามารถอนุมัติได้นั้น เช่น ให้รัฐบาลชดเชยค่าแรง 75% ในปีแรก, 50% ในปีที่ 2 และ 25% ในปีที่ 3 ส่วนมาตรการภาษีหัก ณ ที่จ่ายกระทรวงการคลังจะกลับไปดูข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะมีผู้ประกอบการได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใดและจะปรับลงได้ขนาดไหน

ทั้งนี้ ผลจากการปรับเพิ่มค่าแรง 300 บาทใน 7 จังหวัดแรกซึ่งเป็นจังหวัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของการใช้แรงงาน ปรากฎว่าไม่มีรายงานว่าได้รับผลกระทบ แต่กลับจะเพิ่มกำลังซื้อซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ นอกจากนี้ มาตรการตามนโยบายของรัฐบาล เช่น การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการอยู่แล้ว ดังนั้น ขอให้ผู้ประกอบการอดทน เพราะในระยะแรกยังไม่เห็นผลชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ