ธ.ก.ส.ขยายวงเงินสินเชื่อเครื่องจักรเครื่องยนต์การเกษตร เพิ่มเป็น 3.5 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 9, 2013 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ ปกป้อง ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้ขยายวงเงินสินเชื่อในโครงการจัดหาเครื่องจักรเครื่องยนต์ทางการเกษตรเพิ่มเติมอีกจำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าลงทุนซื้อทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องยนต์ที่ใช้ในการผลิต การแปรรูป ยานพาหนะในการบรรทุกขนส่ง และหรือพร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วง เช่น รถไถนั่งขับ รถเกี่ยวข้าว รถสีข้าว รถสีข้าวพร้อมเครื่องสี รถสีข้าวโพด รถสีข้าวโพดพร้อมเครื่องสี เครื่องจักรกลการเกษตร รถยนต์บรรทุกขนส่ง เป็นต้น

และเพื่อนำเงินกู้ไปชำระค่าเช่าซื้อกับบริษัทผู้ประกอบกิจการให้เช่าซื้อหรือลีสซิ่ง หรือบริษัทในเครือตัวแทนจำหน่าย หรือผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการในลักษณะเดียวกัน พร้อมกับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นของเกษตรกร หรือของบุคคลอื่นในครอบครัว

ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อจัดหาเครื่องจักรเครื่องยนต์ทางการเกษตรในวงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2554 - 31 มีนาคม 2557

ปัจจุบันธ.ก.ส. ได้จ่ายสินเชื่อตามโครงการไปแล้วจำนวน 15,655 ล้านบาท จำนวนลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการ 50,844 ราย โดยสามารถช่วยลดต้นทุนด้านดอกเบี้ยแก่ลูกค้าได้กว่า 5,000 ล้านบาท

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อจัดหาเครื่องจักรเครื่องยนต์ จะได้รับการลดหย่อนในเรื่องหลักประกันไม่ว่าจะเป็นการจำนองอสังหาริมทรัพย์ หรือใช้บุคคลค้ำประกัน โดยให้วงเงินกู้ 80-100 % ของทรัพย์สิน สามารถผ่อนชำระคืนได้สูงสุดถึง 8 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยแบบต้นเงินลดดอกเบี้ยลด ซึ่งต่ำกว่าระบบเช่าซื้อ(Flat Rate) เป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย อันจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต ทำให้ลูกค้ามีกำไรสุทธิ(Net Profit) สูงขึ้น

กรณีลูกค้าขอกู้ซื้อใหม่การคิดดอกเบี้ยแบบต้นลดดอกลดจะทำให้ลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยอย่างน้อย 100,000 บาทต่อราย และกรณีกู้ไปชำระค่าเช่าซื้อกับบริษัทผู้ประกอบการ ได้แก่ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทยันม่าร์ แคบปิตอล (ไทยแลนด์) จำกัด จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยของเกษตรกรได้ประมาณ 60,000 บาทต่อราย เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทมีข้อตกลงร่วมกับ ธ.ก.ส. ว่าจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 80 ของดอกเบี้ยคงเหลือที่คิดคำนวณไว้ล่วงหน้า

โครงการดังกล่าวนอกจากช่วยลดภาระดอกเบี้ย ยังเป็นการให้โอกาสกับเกษตรกรที่ไม่มีเงินทุนหรือหลักทรัพย์จำนอง ได้มีเครื่องจักรกลที่ใช้ในการผลิตเป็นของตนเองและสามารถนำไปให้บริการรับจ้างแก่เกษตรกรอื่นๆในพื้นที่ เพื่อเพิ่มรายได้

นอกจากนี้การใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ทางการเกษตรยังสะท้อนถึงทิศทางการผลิตทางการเกษตรที่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรมาทดแทนการใช้แรงงานคนรองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรที่มีมากขึ้น นายชัยวัฒน์กล่าว

สำหรับภาพรวมการดำเนินงานด้านสินเชื่อของ ธ.ก.ส. ในปีบัญชี 2555 (1 เม.ย.55- 31 มี.ค.56) ตั้งเป้าหมายการจ่ายสินเชื่อเพิ่มขึ้น 80,000 ล้านบาท แต่ผลการดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 หรือสิ้น ธ.ค.55 จ่ายสินเชื่อเพิ่มขึ้นกว่า 110,388 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายเนื่องจากปัญหาอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรมีความต้องการเงินกู้เพื่อนำไปฟื้นฟูการผลิต ประกอบกับมีเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ(Soft Loan) จากธนาคารแห่งประเทศไทยที่สมทบเข้ามาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอีกประมาณ 42,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้จัดทำโครงการสวัสดิการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ดี ด้วยการจัดทำประกันชีวิตให้ฟรี วงเงินคุ้มครองขั้นต่ำรายละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระหนี้สินให้แก่ทายาทและครอบครัวของลูกค้า กรณีลูกค้าเสียชีวิตหรือทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร โดยมีลูกค้าที่ได้รับประโยชน์ในปี 2554 และ 2555 จำนวน 2.47 ล้านราย และ 2.53 ล้านราย วงเงินที่ ธ.ก.ส.จ่ายเพื่อชำระค่าเบี้ยประกันจำนวน 317.2 ล้านบาท และ 652.6 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งในช่วง 2 ปีนี้มีเกษตรกรลูกค้าเสียชีวิตและทุพพลภาพจำนวน 9,226 ราย และได้รับชดเชยค่าสินไหมไปแล้วทั้งสิ้น658.6 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ