(เพิ่มเติม1) กนง.นัดแรกมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% ตามตลาดคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 9, 2013 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในการประชุมวันที่ 9 ม.ค.56 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของปี 56 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ทั้งนี้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อทรงตัว ปรับขึ้นค่าแรงไม่กระทบจนน่ากังวล โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยปี 55 และคาดการณ์ปี 56 เติบโตสูงกว่าคาดการณ์เดิม

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในฐานะเลขานุการ กนง. ระบุว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยประเมินว่านโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมามีส่วนสำคัญช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นและอุปสงค์ของภาคเอกชน ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากอุทกภัยและรองรับผลกระทบของเศรษฐกิจโลกได้อย่างน่าพอใจ

ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันยังเป็นนโยบายที่เหมาะสมในการสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศเพทาอให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่ต้องติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากการเร่งตัวของสินเชื่อและหนี้สินภาคครัวเรือน รวมทั้งความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/55 มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าคาด ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปี 55 และคาดการณ์เศรษฐกิจปี 56 เติบโตสูงกว่าที่ กนง.ประเมินไว้เดิม จากอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ ความเชื่อมั่นภาคเอกชน รายได้ภาคครัวเรือน และการจ้างงานสูง รวมทั้งภาวะการเงินที่ผ่อนปรน สินเชื่อขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การส่งออกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวในวงกว้าง และภาคบริการและการท่องเที่ยว ขยายตัวดีส่วนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังทรงตัวใกล้เคียงกับการประชุมครั้งก่อน แต่ต้องตดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้จากการปรับค่าแรงขั้นต่ำรอบสอง

ขณะที่ เศรษฐกิจโลกในภาพรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน โดยเฉพาะสหรัฐฯและจีน กอปรกับความคืบหน้าในการต่ออายุมาตรการทางการคลังของสหรัฐฯ ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้ตลาดการเงินโลกด้วย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรและญี่ปุ่นยังคงอ่อนแอ และคาดว่าต้องใช้ เวลาในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง สำหรับเศรษฐกิจเอเชียส่วนใหญ่ปรับดีขึ้นจากการใช้จ่ายในประเทศที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งการส่งออกที่มีแนวโน้มปปรับดีขึ้นอย่างช้าๆ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ธปท.จะแถลงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 55 และ 56 ในการเปิดเผยรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อวันที่ 18 ม.ค.หลังจาก กนง.เห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน โดยขณะนี้แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวจากครั้งก่อน การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศไม่ได้ส่งผลกระทบจนน่ากังวล เพราะภาคธุรกิจปรับตัวไปมากแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ดังนั้นความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ประกอบการผลักภาระมาให้ผูบริโภคจึงมีไม่มาก จึงเชื่อว่าผลกระทบการปรับค่าแรงครั้งนี้จะไม่มากเหมือนรอบแรกที่มีการปรับขึ้นไปก่อนใน 7 จังหวัด

แต่คงมีธุรกิจบางประเภท โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีกำไรไม่สูงมาก อาจหลีกเลี่ยงความเสี่ยงไม่ได้ เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวได้ จนบางรายต้องปิดกิจการ ส่วนความเป็นห่วงปัญหาการว่างงานนั้น กนง.มองว่าขณะนี้ตลาดแรงงานค่อนข้างตึงตัว มีความต้องการแรงงานมากกว่าจำนวนแรงงาน ถ้าบางธุรกิจต้องปิดกิจการลงแล้วทำให้มีแรงงานเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ก็จะถูกธุรกิจที่ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ซึมซับแรงงานดังกล่าวไว้ได้

สำหรับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่ต้องยอมรับว่าเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่น ถ้าการเมืองมีปัญหาย่อมกระทบความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเชื่อว่าอุปสงค์ในประเทศก็ยังมีกำลังส่งดีอย่างต่อเนื่อง แม้จะตระหนักว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล ทำให้มีการผลิตรถและส่งมอบไปแล้ว 5 แสนคัน และในปีนี้อีก 7 แสนคัน เมื่อมาตรการหมดไปแรงส่งก็คงลดลง

หากดูปัจจัยพื้นฐานความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับสูง รายได้ของคนที่สูงขึ้น และการจ้างงานเต็ม 100% ภาวะการเงินที่ผ่อนคลาย สินเชื่อที่ขยายตัวได้สูง เหล่านี้ยังเป็นปัจจัยหนุนการบริโภค การลงทุน และการใช้จ่ายในประเทศได้ต่อเนื่อง ส่วนปัญหาความร้อนแรงในตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็น 1 ใน 7 ด้านของเสถียรภาพการเงินที่ กนง.ใช้ประกอบการพิจารณานโยบายการเงิน ยังต้องติดตามอย่างใกล่ชิดต่อไป แม้ว่าช่วงนี้ยังไม่ปรากฎว่าจะต้องดำเนินนโยบายใดมาดูแลเป็นพิเศษ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า กนง.ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อ แต่รวมไปถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วย นอกจากนี้เสถียรภาพการเงินก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินภาคครัวเรือนที่หลายฝ่ายกังวล หากปล่อยให้หนี้สินสะสมเกินตัวก็จะเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจและการเงินของประเทศในระยะต่อไป ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า หรือเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องที่ กนง.ต้องติดตาม เพื่อทำให้เกิดความสมดุล ให้เศรษฐกิจขยายตัวไปได้ต่อเนื่อง โดยไม่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลในภาคส่วนต่างๆ

แม้ว่าสินเชื่อปัจจุบันจะขยายตัวสูงถึงระดับ 14-15% แต่ก็เป็นวัฎจักรของเศรษฐกิจ ส่วนสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวมากกว่า 20% และบางประเภทขยายตัวเกือบ 30% เป็นสิ่งที่ กนง.ให้ความสำคัญ รวมถึงยังติดตามความผันผวงนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ กนง.คำนึงถึงอย่างรอบด้าน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ