รัฐเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เพื่อหาแหล่งพลังงานสำรอง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 10, 2013 13:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา จำนวน 26,000 ตารางกิโลเมตร เพื่อดำเนินการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าวขึ้นมาใช้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เนื่องจากกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติของไทยในปัจจุบันได้ปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดแล้วที่ประมาณ 3,600-3,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

"กรมฯ ประเมินว่า การรักษาระดับการผลิตสูงสุดจะทำได้เพียง 5 ปี แต่ตั้งเป้าหมายที่จะรักษาระดับผลิตสูงสุดให้ได้ 10 ปี โดยจะต้องลงทุนขุดเจาะสำรวจในแหล่งก๊าซขนาดเล็ก หลังจากนั้นปริมาณการผลิตจะลดลงเหลือเพียงประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใน 20-30 ปีข้างหน้า" นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าว

อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร เพราะเป็นกฎหมายคนละฉบับ เพราะความขัดแย้งในเรื่องกฎหมายทางทะเลนั้นมาจากแต่ละฝ่ายอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่กรณีพิพาทพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารเป็นสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส

"ขั้นตอนการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล อยู่ระหว่างรอกระทรวงการต่างประเทศเจรจา เพื่อนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งหลังจากสองประเทศเปิดให้สัมปทาน คาดว่า จะต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี จึงจะสามารถนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้ แต่การดำเนินการเจรจาเป็นส่วนที่รัฐบาลจะต้องนำความรู้สึกของประชาชนมาใช้ประกอบการตัดสินใจด้วย" นายทรงภพ กล่าว

ทั้งนี้ ไทยมีความต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปี โดยความต้องการใช้สูงสุดเป็นการนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.6 การใช้ในภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 17.7 การใช้ในรถยนต์ร้อยะ 5.2 การใช้ในโรงแยกก๊าซร้อยละ 13.9 ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานเร่งจัดหาก๊าซเพิ่มเติมทั้งจากพม่า และประเทศเพื่อนบ้าน การต่ออายุสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ โดยประเมินว่า หากไม่สามารถจัดหาแหล่งผลิตเพิ่มเติมเข้ามาได้ หลังปี 2565 ไทยจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ประมาณ 20 ล้านตันต่อปี

โดยในปี 2555 ไทยมีสัมปานปิโตรเลียมรวม 76 แปลง มีรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียม 160,000 ล้านบาท โดยขณะนี้กรมฯ ได้เจรจากับโรงกลั่นต่างๆ เช่น บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) และ บมจ.ไออาร์พีซี(IRPC) เพื่อนำน้ำมันดิบที่มีการส่งออก 30,000 บาร์เรลต่อวัน นำมากลั่นใช้ในประเทศ โดยปริมาณส่งออกจะเหลือเพียง 13,000 บาร์เรลต่อวันในปลายปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ