นอกจากนี้ บริษัทวิทยุการบินของไทยได้ทำความตกลงกับกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารในการพัฒนาระบบการควบคุมการจราจรทางอากาศ จัดทำระบบข้อมูลการบิน (Data Link) และอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของโมซัมบิก
ส่วนในด้านการเกษตร ทั้ง 2 ประเทศได้วางแผนระยะยาวร่วมกัน โดยนักธุรกิจไทยจะเข้าไปลงทุนปลูกอ้อย, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, มันสำปะหลัง, สับปะรด และเตรียมลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป เพื่อส่งออกสินค้าสู่ตลาดอื่นในภูมิภาคแอฟริกา อีกทั้งไทยจะส่งออกข้าวเกรดต่าง ๆ ไปยังโมซัมบิก ก่อนที่ในอนาคตจะมีการลงทุนการปลูกข้าวและการจัดตั้งโรงสีข้าวในโมซัมบิกต่อไป
สำหรับในด้านการนำเข้าวัตถุดิบจากโมซัมบิกนั้น นักธุรกิจไทยได้สั่งซื้อเมล็ดมะม่วงหิมพานต์เพื่อนำไปอบแห้งและส่งออกไปจำหน่ายในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ตลอดจนจะนำเข้าโพลิเอททีลีน (Polyethylene) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยด้วย
ทั้งนี้ นางนลินี ได้เข้าพบกับนายอาร์มันโด เอมิลิโอ กูเอบูซ่า ประธานาธิบดีสาธารณรัฐโมซัมบิก ณ ทำเนียบประธานาธิบดี โดยนายอาร์มันโด ได้กล่าวชื่นชมและเชื่อมั่นในความเชี่ยวชาญของไทย อาทิ การเกษตร, อุตสาหกรรม, พลังงานทดแทน, การประมง และการบริหารจัดการวิทยุการบินและการบริหารสนามบิน จึงจะขอรับการสนับสนุนและแลกเปลี่ยนความรู้กับประเทศไทย พร้อมทั้งยินดีให้การสนับสนุนแก่ประเทศไทยในทุกเรื่องด้วยเช่นเดียวกัน
สาธารณรัฐโมซัมบิกตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา เป็นประเทศเกษตรกรรมที่กำลังพัฒนาทางด้านการประมงและการท่องเที่ยวตามชายฝั่งทะเล ซึ่งมีความยาวกว่า 2,800 กม. เพราะอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบ ทั้งนี้ ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ค.55 การค้าระหว่างไทยและโมซัมบิกมีมูลค่า 102 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ ข้าว, น้ำมันสำเร็จรูป, ปูนซีเมนต์, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก
"โมซัมบิกเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญซึ่งเป็นที่ต้องการของไทยในหลายด้าน เช่น การเกษตร, แร่ธาตุ และประมงทะเล โดยขณะนี้โมซัมบิกกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการค้าและการลงทุนในอนาคต และที่สำคัญยังเป็นเมืองท่าเพื่อเข้าสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแอฟริกากว่า 50 ประเทศ และเป็นหนึ่งใน 18 ประเทศ ที่ได้ประกาศเป็น Free Trade Zone ของแอฟริกา ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของนักธุรกิจชาวไทยที่ต้องการขยายตลาดการลงทุนในประเทศนี้" นางนลินี กล่าว