ทั้งนี้ การตัดสิทธิ GSP ดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยเนื่องจากมั่นใจว่าผู้บริโภคยังคงต้องการสินค้าคุณภาพสูงจากไทยและจะสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดในสหภาพยุโรปได้ ซึ่งที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศ ได้ประสานความร่วมมือกับผู้ส่งออก/ผู้ผลิตไทยเพื่อเตรียมการรองรับการตัดสิทธิ GSP มาโดยตลอด โดยได้ชี้แนะให้ผู้ส่งออกปรับสายการผลิตสินค้าให้มีความหลากหลายและพัฒนาคุณภาพสินค้าให้สูงเหนือกว่าประเทศคู่แข่ง พร้อมทั้งเร่งนำผู้ส่งออกสินค้าสำคัญที่คาดว่าจะถูกตัดสิทธิฯ ไปเปิดตลาดใหม่เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหภาพยุโรป เช่น จีน เกาหลี กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แอฟริกา และภายในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมฯ ได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) เพื่อลดต้นทุนการผลิตและใช้สิทธิ GSP ของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างแต้มต่อในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี สินค้าสำคัญของไทยในหมวดอื่น ๆ ยังคงได้รับสิทธิ GSP อยู่ เช่น พลาสติก (พิกัดฯ 39) ยาง (พิกัดฯ 40) เครื่องนุ่งห่ม (พิกัดฯ 61 และ 62) รองเท้า (พิกัดฯ 64) และยานยนต์ (พิกัดฯ 87) ซึ่งจะทำให้สินค้าของไทยเหล่านี้มีความได้เปรียบทางการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญที่ถูกตัดสิทธิฯ ในครั้งนี้ เช่น จีน และอินเดีย เป็นต้น
กรมการค้าต่างประเทศในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบ GSP ได้ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ภายใต้ระบบ GSP สหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง