โดยวันนี้ กสทช.จะเรียกผู้ให้บริการทั้ง 3 บริษัท มาหาข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งจะมีกรรมการกสทช.ที่รับผิดชอบงานด้านกิจการโทรคมนาคมร่วมหารือด้วย ทั้งนี้ พบว่าที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการระบบบัตรเติมเงินมากถึง 70 ล้านเลขหมาย หรือคิดเป็น 90% จากจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่รวม 80 ล้านเลขหมาย
อย่างไรก็ตาม หลังจากได้หารือร่วมกันแล้ว สำนักงานกสทช.จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบว่ายังพบเห็นการกำหนดวันหมดอายุในบัตรเติมเงินอยู่อีกหรือไม่ ซึ่งหากยังพบอยู่จะตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดการสั่งปรับทางปกครองในอัตราสูงกว่าวันละ 1แสนบาท
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการต้องจ่ายค่าปรับทางปกครองย้อนหลังวันละ 1 แสนบาท ตั้งแต่ต้นเดือนก.ค.55 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กสทช.ออกคำสั่ง จนถึงวันที่ 13 ม.ค.56 ด้วย
"เราออกค่าปรับไปแล้ว หากเอกชนไม่นำมาชำระก็จะมีปัญหาได้ และเราคงมีมาตรการ คือการปรับเพิ่มขึ้น หรือมีค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตลอด ซึ่งจำนวนเงินแค่นี้ไม่ได้มากเลยสำหรับโอเปอเรเตอร์ การปรับย้อนหลัง เราจะปรับตั้งแต่วันที่เราออกประกาศจนถึงวันที่ 13 ม.ค.56 ซึ่งเป็นค่าปรับในสิ่งที่ทำผิดในช่วงที่ผ่ามา และหากยังไม่จ่ายก็จะพิจารณาปรับเพิ่มขึ้น" นายฐากูร กล่าว
ส่วนหลังจากวันที่ 14 ม.ค.56 ก็จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการว่าหากยังพบมีการกำหนดวันหมดอายุในบัตรเติมเงิน โดยจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบหากพบว่าไม่มีก็ไม่ต้องจ่ายแล้ว แต่ค่าปรับเดิมยังต้องจ่ายย้อนหลังอยู่ แต่หากพบว่ายังไม่ยกเลิก กสทช.ก็จะตั้งคณะกรรมการกำหนดค่าปรับขึ้นมาเพิ่มค่าปรับให้สูงขึ้น อาจถึงวันละ 2 แสนบาทก็ได้
ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จำนวนเงินที่สั่งปรับถือว่ามีมูลค่าน้อยมาก หากเปรียบเทียบกับความเสียหายปีละ 7 พันล้านบาทจากการถูกค่ายมือถือยึดเงินเข้าระบบทั้งๆ ที่เป็นสิทธิ์ของประชาชน สำหรับการออกคำสั่งปรับทางปกครองครั้งนี้ ทั้ง 3 บริษัทผู้ให้บริการจะต้องจ่ายค่าปรับให้กสทช.เป็นเงินรายละ 3 ล้านบาทต่อเดือน และหากคำนวณจนถึงปัจจุบันแล้วทั้ง 3 บริษัทจะต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินอย่างน้อย 54 ล้านบาท