ทั้งนี้ โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานยังคงเน้นการลงทุนในระบบราง และน้ำ ส่วนทางถนนจะยังมีอยู่ แต่จะเน้นการลงทุนเพื่อการขยายขนาด ไม่ใช่การลงทุนเพื่อขยายเส้นทางใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการประหยัดต้นทุนด้านขนส่ง ขณะที่การลงทุนระบบรางจะเป็นรถไฟความเร็วสูงเพื่อการขนส่งผู้โดยสารใน 4 เส้นทางหลัก คือ ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคตะวันออก และภาคใต้
"การเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ อาจได้รับการยืนยันในบัญชีรายชื่อโครงการ ซึ่งจะมีบัญชีรายการส่วนเพิ่มเติม หากโครงการในบัญชีหลักไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาพัฒน์ฯ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม หรือคณะรัฐมนตรี...หวังว่าจะผ่านการพิจารณาจากครม.ภายในม.ค.หรือต้นก.พ. เป็นการสะท้อนถึงความพร้อมของไทยในการลงทุน ซึ่งหากดำเนินการได้ตามขั้นตอน จะทำให้ไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง" นายกิตติรัตน์ กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ยังได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ยุทธศาสตร์ไทยใน AEC" ในงานสัมมนา "AEC Forum 2013 : พลังเศรษฐกิจ AEC สู่การเป็นเมืองหลวงแห่งอาเซียน"ว่า ไทยได้มีการวาง 8 ยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงความพร้อมการเป็นสมาชิกที่ดี ขณะเดียวกันการวางเป้าหมายให้ไทยเป็นเมืองหลวงแห่งอาเซียน ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การมีทัศนคติการทำตัวให้เข้มแข็ง มีศักยภาพและมีประสิทธิภาพ มีการเตรียมบุคลากรเพื่อให้เข้าใจถึงการเป็น AEC มีการกระจายความมั่งคั่ง ความมั่งมี ไม่ใช่เฉพาะในกทม.เท่านั้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมทางด้านภูมิศาสตร์ที่จะสามารถเชื่อมโยงอาเซียนได้ โดยไทยมีจุดเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน มีทรัพยากรต่างๆ ดังนั้นหากมีความร่วมมือกันกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความเจริญร่วมกันจะทำให้ไทยเป็นทางเลือกของการเชื่อมต่อกับประเทศในอาเซียน โดยจะต้องทำให้ภายในประเทศมีความสมบูรณ์และมีการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น
"ขอให้มั่นใจว่าไทยพร้อมที่จะอาสาเป็นจุดเชื่อมต่ออาเซียน, จีน ตลอดจนลาว, เวียดนาม, กัมพูชา รวมถึงเราพร้อมที่จะทำให้เชื่อมโยงไปถึงมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดเหล่านี้ต้องอาศัยภาคเอกชน โดยที่ภาครัฐพร้อมให้ความมั่นใจที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อ" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าว
พร้อมระบุว่า ไทยอยู่ระหว่างการลงทุนในระบบน้ำและระบบราง เพื่อให้สามารถประหยัดต้นทุนด้านขนส่ง เพราะที่ผ่านมาไทยไม่ได้มีการวางแผนการพัฒนาในด้านดังกล่าว ดังนั้นการเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ถือเป็นโจทย์สำคัญ และการที่รัฐบาลไม่ได้ตั้งงบลงทุนไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี เนื่องจากในงบประจำปีมีการแสดงงบรายจ่ายเป็นเป้าหมายประจำปีอยู่แล้ว แต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต้องใช้งบประมาณต่อเนื่องอีกหลายปี
นายกิตติรัตน์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องการให้เห็นว่าการที่ตั้งงบประมาณแบบขาดดุลไม่ใช่ปัญหาของประเทศ เพราะรัฐบาลได้วางเป้าหมายที่จะลดการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ซึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำนั้นจะเป็นงบขาดดุลราว 2 แสนล้านบาท ส่วนหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำสามารถรองรับการลงทุนภายใต้กรอบการลงทุนในระยะ 7 ปี ควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ