ทั้งนี้ การปรับปรุงสุขอนามัยโรงเพาะฟักฯ นอเพลียส แต่ละแห่ง จะใช้เวลา 15-20 วัน ในการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ ตั้งแต่ระบบอากาศ ระบบบ่อน้ำ อุปกรณ์และเครื่องมือ รวมถึงการตรวจสุขภาพพ่อแม่พันธุ์ให้ปลอดโรค และตรวจสอบคุณภาพลูกกุ้งนอเพลียสตามวิธีการที่กรมประมงกำหนด โดยตั้งเป้าว่าโรงเพาะฟักฯ ทั้งหมดทั่วประเทศ จะดำเนินการตามมาตรการปรับปรุงสุขอนามัยฟาร์มได้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งขณะนี้มีโรงเพาะฟักฯ เข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 20 แห่ง คิดเป็น 80% ของโรงเพาะฟักฯ ทั่วประเทศ
"มาตรการดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาเพื่อลดการสูญเสียจากกลุ่มอาการตายด่วน พร้อมๆ กับมาตรการอื่นๆ ที่จะดำเนินการต่อเนื่องกันไปอย่างเป็นระบบ และสามารถลดปัญหาการเกิดขึ้นในพื้นที่ผลิตกุ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับภาคการตลาดและรักษาความเป็นหนึ่งของการส่งออกกุ้งของประเทศไทยได้ในที่สุด"นายศิริวัฒน์ กล่าว
ด้านนายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการปรับปรุงสุขอนามัยโรงเพาะฟักฯ นอเพลียส จะดำเนินการทั่วประเทศ เป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2556 แบ่งพื้นที่การดำเนินงานออกเป็น 4 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 ภาคตะวันออก ในพื้นที จ.ชลบุรี และตราด ระหว่างวันที่ 16 ม.ค.-14 ก.พ. 2556 โซนที่ 2 ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จ.ชุมพร นครศรีธรรมราช และสงขลา ระหว่างวันที่ 4 ก.พ.-2 มี.ค. 2556 โซนที่ 3 ภาคใต้ฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 21 ก.พ.-22 มี.ค. 2556 และโซนที่ 4 ภาคใต้ฝั่งอันดามัน จ.พังงา ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.-12 เม.ย. 2556