สำหรับปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ น้ำมันดิบดูไบในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 100-120 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากปี 55 อยู่ที่ 88.98-124.09 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะอยู่ที่ 28.50-32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากปี 55 อยู่ที่ 30.38-32.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลยังคงมีมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
นพ.ทศพร กล่าวว่า ผลกระทบการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำครั้งนี้ต่อต้นทุนและราคาสินค้า ด้านต้นทุนการผลิต สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ซึ่งจะไม่ได้รับผลกระทบ เช่น สินค้าน้ำมันพืช สบู่ ผงซักฟอก ปูนซีเมนต์ และเหล็กเส้น เป็นต้น เนื่องจากได้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้วในรอบแรกเมื่อปีก่อน
ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จะมีมาตรการติดตามภาวะราคาจำหน่ายสินค้าอย่างใกล้ชิดไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า โดยอ้างสาเหตุจากการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
ขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) พบว่าจะได้รับผลกระทบประมาณร้อยละ 2-6 เช่น สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องหนัง เป็นต้น ด้านราคาจำหน่าย อาจมีผลทางจิตวิทยา ทำให้ร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกปรับราคาจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ จะมีมาตรการจัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบราคาจำหน่ายอย่างใกล้ชิดหากพบว่าร้านค้ามีพฤติกรรมฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
นพ.ทศพร กล่าวว่า การเพิ่มค่าจ้างแรงงานจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลในส่วนต่าง ๆ เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง
ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการเพื่อลดภาระต้นทุนได้จากค่าแรงงานที่จ่ายเพิ่มขึ้นโดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ใช้แรงงานให้สูงขึ้นตาม ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนลดลง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะต่อไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมด้วย