ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดมาตรการกระตุ้นศก.ของญี่ปุ่น ช่วยหนุนส่งออกไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 15, 2013 18:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในการเดินทางเยือนประเทศไทยของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 17-18 ม.ค.2556 จะมีการหารือประเด็นสำคัญ อาทิ การลงนามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) ในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง, การลงทุนในโครงการป้องกันน้ำท่วม, โครงการความร่วมมือด้านเทคโนโลยีไอซีที

นอกจากนี้ อาจมีการเจรจาประเด็นเกี่ยวกับการทบทวนหรือเจรจาเปิดตลาดเพิ่มเติมในกรอบ JTEPA รวมถึงอาจมีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการลงทุนอื่นๆ ตลอดจนการหารือร่วมกันถึงนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดความร่วมมือและดำเนินนโยบายไปในทิศทางที่สอดคล้องกันระหว่างทั้ง 2 ประเทศ

ทั้งนี้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ออกมาในรอบล่าสุด ซึ่งมีทั้งมาตรการกระตุ้นในระยะสั้น และการปฏิรูปโครงสร้างระยะยาว เช่น งบประมาณลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน(โดยส่วนหนึ่งเป็นการบูรณะโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายจากภัยพิบัติสึนามิ และการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคที่เริ่มมีสภาพเก่าลง) รวมถึงการสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการออกไปซื้อกิจการหรือขยายการลงทุนในต่างประเทศ นับเป็นความหวังว่าจะช่วยดึงให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นพ้นจากภาวะถดถอยได้ ซึ่งด้วยมาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่นให้ขับเคลื่อนไปได้ดีขึ้นในปี 2556 และช่วยหนุนการส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นให้ขยายตัวได้ดีขึ้นในปี 2556

หลังจากที่ใน 11 เดือนแรกของปี 2555 หดตัวลงที่ร้อยละ 2.0 จากที่เคยขยายตัวในระดับ 2 หลักมาอย่างต่อเนื่องในปี 2553-2554 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 8 ในปี 2556 ดีขึ้นจากที่คาดว่าจะหดตัวในปี 2555 ที่ร้อยละ 0.7 ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นที่น่าจะได้รับอานิสงส์ ได้แก่ กลุ่มวัตถุดิบอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รวมถึงสินค้าเพื่อการบริโภค เช่น ไก่แปรรูป, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น

โดยการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย นอกจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว ยังมีกลุ่ม SMEs ที่มีแนวโน้มจะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ตามนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยเฉพาะผู้รับช่วงผลิตต่อ(Tier 2 และ 3) ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร ชิ้นส่วนโลหะ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งนี้ใน 11 เดือนแรกของ 2555 มีนักลงทุนญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI รวม 714 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.9 เป็นมูลค่าเงินลงทุน 312,185 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 ราว 85 เท่า

ทั้งนี้กลยุทธ์การลงทุนของญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในอาเซียน มีนัยต่อไทยทั้งด้านบวกและด้านที่ต้องระวัง โดยสิ่งที่ไทยต้องตระหนักคือนักลงทุนญี่ปุ่น แม้ยังให้ความสนใจลงทุนในไทย(จากการสำรวจโดย JBIC) แต่อันดับความน่าสนใจของไทยลดลง โดยมีอินโดนีเซียแซงขึ้นมา สะท้อนถึงการแข่งขันดึงดูดการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนซึ่งไทยกำลังเผชิญคู่แข่งมากรายขึ้น

อย่างไรก็ตาม การวางเป้าหมายปักหลักลงทุนในอาเซียนของญี่ปุ่นนี้อาจมีผลดีต่อไทยในทางอ้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นมานาน จึงเป็นโอกาสที่ธุรกิจไทยอาจติดตามบริษัทลูกค้าชาวญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนด้วย เช่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ปัจจัยนี้จะเป็นบวกต่อไทยก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการไทยเองก็ต้องมีความพร้อมออกไปดำเนินธุรกิจและแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ