"สิ่งที่ประเทศไทยควรมีเพื่อเสริมศักยภาพของประเทศก็คือคลองคอคอดกระซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จึงควรวางแผนระยะยาว แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยเรายังติดกับปัญหาเล็กๆ เช่น การประกาศขึ้นค่าทางด่วนเป็นคราวๆ หรือการซื้อเวลาในการแก้ปัญหาหญ้าปากคอกของโครงสร้างพื้นฐาน" นายโสภณ ระบุในเอกสารเผยแพร่
ทั้งนี้หลังนำคณะนักศึกษาหลักสูตรการประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์มืออาชีพ รุ่นที่ 17 ไปดูงานการพัฒนาพื้นที่ด่านพุน้ำร้อน อ.เมืองกาญจนบุรี นายโสภณได้ตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับโครงการพัฒนาคอคอดกระ และระบบทางด่วนที่มีประเด็นเรื่องการขึ้นค่าทางด่วนและการผ่อนผันให้รถบรรทุกน้ำหนักเกินวิ่งได้
โดยการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายและเส้นทางคมนาคมไปสู่บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี จะทำให้จังหวัดกึ่งทางตัน เช่น กาญจนบุรีมีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่หลายอย่างยังไม่ได้เป็นจริงตามแผน ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนพึงระมัดระวัง เช่น โครงการสาธารณูปโภคที่ว่าดำเนินการค่อนข้างล่าช้า โดยเฉพาะการตัดถนนจากบ้านพุน้ำร้อนถึงบางใหญ่ จ.นนทบุรี
นอกจากนี้การสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างบ้านพุน้ำร้อนกับสถานีน้ำตกไทรโยค ซึ่งยังไม่มีเขตทางใดๆ เพราะไม่มีการเวนคืน ดังนั้นจึงคงต้องใช้เวลาอีกนาน ส่วนกรณีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมในชายแดนไทย-พม่า ฝั่งไทยโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)นั้นขณะนี้ยังไม่มีที่ดิน เพราะเป็นที่ดินราชพัสดุอยู่ในความดูแลของทหาร ยังไม่รู้จะใช้ที่ดินบริเวณใด ที่สำคัญก็คืออาจตั้งไม่สำเร็จ เพราะหากต่างชาติจะตั้งโรงงานก็ตั้งฝั่งพม่าที่มีเงื่อนไขดีกว่า ค่าแรงถูกกว่า และลงทะเลส่งออกจากท่าเรือน้ำลึกทวาย คงจะสะดวกกว่า แต่ยังคงต้องใช้เวลาอีกนับสิบปีที่ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายจะสำเร็จ
นายโสภณ กล่าวว่า ในทางยุทธศาสตร์คงเป็นไปได้ยากที่ภาคเอกชนจะผลิตสินค้าที่นิคมอุตสาหกรรมทวายแล้วส่งขึ้นรถไฟมาบ้านพุน้ำร้อนแล้วไปลงเรือที่ท่าเรือมาบตาพุด หรือต่อไปยังกัมพูชา เพื่อลงท่าเรือน้ำวุงเต่าของเวียดนาม แม้การจราจรที่ช่องแคบมะละกาจะติดขัดและมีโจรสลัดเป็นระยะๆ แต่การผลิตสินค้าที่ทวายย่อมควรส่งออกที่ท่าเรือน้ำลึกทวายมากกว่า ไม่เช่นนั้นจะสร้างท่าเรือดังกล่าวไว้ทำไม
"การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายอาจถือเป็นการคุกคามผลประโยชน์ของประเทศไทยด้วยซ้ำไป เนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่ามาบตาพุด ซึ่งเป็นท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่ที่สุดของไทย และแทบจะมีโอกาสขยายตัวต่อได้ยากเพราะการขัดขวางของเอ็นจีโอร่วมกับกลุ่มนักประท้วงต่างๆ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าไม่ใช่ความเห็นหลักของคนในพื้นที่ที่ต้องการให้อุตสาหกรรมขยายตัวออกไปต่างหาก" นายโสภณ กล่าว
นายโสภณ กล่าวว่า ด้วยเหตุดังกล่าวหากประเทศไทยทบทวนการขุดคอคอดกระ ซึ่งเป็นส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายูอยู่ในเขตบ้านทับหลี ต.มะมุ อ.กระบุรี จ.ระนอง กับ อ.สวี จ.ชุมพร ประมาณกิโลเมตรที่ 545 ของถนนเพชรเกษม มีระยะทางจากฝั่งทะเลตะวันตกจรดฝั่งตะวันออกกว้างเพียง 50 กิโลเมตร โครงการนี้คิดมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช ในการที่จะขุดคลองตัดผ่านจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 ฝรั่งเศสก็คิดขุดเช่นกัน แต่เนื่องด้วยความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับอังกฤษที่เป็นเจ้าของกิจการท่าเรือในปีนังและสิงคโปร์โครงการนี้จึงระงับไป ในสมัยนายปรีดี พนมยงค์ได้เสนอให้ขุดเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการ
"หากดำเนินการสำเร็จ ท่าเรือทวายก็คงแทบไม่มีประโยชน์อะไร สิงคโปร์ มาเลเซียที่มีการพัฒนาท่าเรือขนาดใหญ่สุดแหลมมาลายูก็คงได้รับผลกระทบกับการนี้ นอกจากนี้ไทยยังจะสามารถสร้างนิคมอุตสาหกรรมและอื่นๆ ได้อีกมาก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มหาศาลและเจริญขึ้นในระยะเวลาอันสั้น หากไทยได้รับความร่วมมือจากประเทศมหามิตรอื่นๆ เช่น จีน โครงการนี้อาจประสบความสำเร็จได้ ยิ่งกว่านั้นด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความเป็นไปได้ยิ่งมีมากขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงควรขุดคอคอดกระเป็นอย่างยิ่ง" นายโสภณ กล่าว