วงการชี้อนาคตยางไทยพร้อมก้าวสู่อาเซียน ติงเงิน CESS คือหน้าผาของยางไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 16, 2013 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ คอร์ปอเรชั่น(TRUBB) กล่าวว่า แนวโน้มราคายางพาราจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากตลาดยังมีความต้องการอีกมาก โดยในประเทศมีความต้องการใช้ยางพารามากเป็นอันดับ 5 ของโลก และจีนมีความต้องการใช้มากที่สุดในโลก ซึ่งในอนาคตจะมีปริมาณความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรและการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก แต่จะไม่เกิดปัญหายางล้นตลาดอย่างแน่นอน เนื่องจากกำลังการผลิตและความต้องการใช้มีความสมดุลกัน และในอนาคตจะมี 3 ประเทศที่มีการส่งออกยางได้มากสุด คือ ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เนื่องจากมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพมากที่สุด

ในด้านการผลิตยางพารายังคงดีอยู่และมีประสิทธิภาพพร้อมก้าวเข้าสู่อาเซียนได้อย่างแน่นอน เนื่องจากไทยมีวัตถุดิบและมีสถานที่ที่เหมาะเป็นศูนย์กลางในอาเซียน พร้อมทั้งแนะให้ผู้ประกอบการรุกเปิดธุรกิจในอาเซียนก่อนประเทศจีน ซึ่งขณะนี้จีนได้มีการปลูกยางพาราในแอฟฟิกา และกำลังขยายมาในประเทศเวียดนาม เขมร เนื่องจากจีนมีความพร้อมในด้านกำลังคนและเงินทุน ซึ่งในอนาคตอาจจะส่งผลกระทบต่อไทยได้

"อนาคตระบบเศรษฐกิจโลกมีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการบริหารของธนาคารกลางที่มีเป้าหมายดูแลความเสถียรภาพของราคาสินค้า เพื่อไม่ให้มีเงินเฟ้อสูง แต่ประเทศจีน ญี่ปุ่น ได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจโลกไม่สนใจว่าจะมีเงินเฟ้อหรือไม่ แต่ไปมุ่งเน้นในเรื่องของการให้ประชากรมีงานทำและการมีสภาพคล่องในประเทศ ส่งผลให้เงินแข็งค่า อย่างประเทศไทย แนะผู้ประกอบการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวให้ดี เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อยางพาราไทยอย่างแน่นอน"นายวรเทพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัญหายางในประเทศไทยยังคงมีอยู่ กล่าวได้ว่าธุรกิจไทยกำลังยืนอยู่ตรงหน้าผาของยาง โดยเฉพาะที่เป็นปัญหามากที่สุดคือเรื่องของเงินสงเคราะห์การทำสวนยาง(ค่าCESS) 5 บาท/กก. ทำให้ผู้ประกอบการไม่นำยางออกมาขาย และผู้ประกอบการบางส่วนที่มีขนาดเล็กได้รับผลกระทบ อีกทั้งนโยบายหรือมาตราการจำกัดการส่งออก 10% จากการที่มีการประชุมรัฐมนตรีสภาไตรภาคียางพาราและบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด โดยมีการประชุมกันทั้งสิ้น 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งมาตราการดังกล่าวจะช่วยพยุงราคายางไม่ให้ตกต่ำลง ถ้าราคายางทรุดตัวลงจะกำจัดโควต้าการส่งออกเพิ่มขึ้น 5-7 แสนตัน ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินตามมาตราการดังกล่าวก่อนประเทศอื่นโดยที่ราคายางยังไม่ตกต่ำ ทำให้เกิดปัญหาตามมากับผู้ประกอบการขนาดเล็ก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ