เช้านี้เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 29.72/74 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่องจากเย็นวานนี้ที่ระดับ 29.84/88 บาท/ดอลลาร์
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ผลกระทบที่มีต่อค่าเงินบาทซึ่งมาจากเงินทุนไหลเข้ามาเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะต้องติดตามดูแล แต่ยอมรับว่าการที่เงินบาทปรับตัวแข็งค่าในระยะสั้นต่อวัน หรือต่อสัปดาห์เป็นเรื่องที่ไม่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เกิดปัญหาผันผวน เพราะในความเป็นจริงแล้วคงไม่สามารถไปควบคุมไม่ให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าได้
"ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วไม่ดี แต่จะไม่ทำอะไรที่ฝืนธรรมชาติ"
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลเองก็มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อเพิ่มความต้องการใช้เงินตราต่างประเทศ ตลอดจนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำเข้าสินค้าทุนด้วย โดยจะเป็นปัจจัยที่ช่วยแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าในระยะยาวได้ ซึ่งในส่วนของรัฐบาลเองพยายามที่จะดูแลเรื่องการรักษาสมดุลของดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ให้เบี่ยงเบนเกิน 1% ของ GDP เพื่อให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพ
"หลายคนกังวลเรื่องการขาดดุล ไม่ได้กังวลเรื่องเกินดุล เพราะการเกินดุลทำให้เงินบาทแข็งค่า ซึ่งเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามติดตามดูแลค่าเงินในระยะสั้น ถ้าเงินบาทแข็งค่าเทียบต่อวัน ต่อสัปดาห์ หรือต่อชั่วโมงก็คงไม่ดี แต่ในอนาคตยังมีความต้องการใช้เงินตราต่างประเทศรออยู่เงินบาทก็จะไม่ได้แข็งค่าต่อเนื่องไปเรื่อยๆ" นายกิตติรัตน์ กล่าว