ทั้งนี้ ธปท.ได้ติดตามอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด โดยมองว่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค แต่อาจแข็งค่าขึ้นมากกว่าเมื่อเทียบกับปีก่อนที่เงินบาทแข็งค่าน้อยกว่าภูมิภาค แต่ถือเป็นเรื่องปกติ โดย ธปท.ยังคงติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงิน และมีเครื่องมือที่พร้อมจะดำเนินการได้ หากเป็นผลดีต่อประเทศ
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจะต้องมีความระมัดระวัง เพราะเห็นสัญญาณการเกิดการเก็งกำไรระยะสั้น ดังนั้นเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงใดๆ ต่อตลาดเงินระหว่างประเทศจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน
"เป็นธรรมชาติของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปีที่แล้วเราแข็งค่าน้อยกว่า แต่ 2 วันนี้เราแข็งค่ามากกว่า ขึ้นอยู่กับการเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น ส่วนใหญ่เป็นบริษัทการเงินที่มีลูกค้าอยู่ทั่วโลก...การแทรกแซงมี cost ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่อยากให้เป็นไปตามพื้นฐานกลไก ตอนนี้ไม่ขอ comment ว่าเข้าไปแทรกแซงหรือเปล่า" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
สำหรับผลในด้านของผู้ส่งออกนั้น ผู้ว่าฯ ธปท. มองว่า ผู้ประกอบการในส่วนที่มีอำนาจการต่อรองจะยังสามารถปรับตัวได้จากเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันควรต้องป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นด้วย
นายประสาร ยังเชื่อว่า เงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในระยะนี้ไม่ได้เป็นเพราะการถูกโจมตีค่าเงินที่เปลี่ยนเป้าหมายมาจากตลาดฮ่องกงและตลาดสิงคโปร์ ซึ่งค่าเงินบาทเป็นอัตราแลกเปลี่ยนในระบบที่เสรีและยืดหยุ่นได้มากกว่า ซึ่งเชื่อว่าน่าจะดูแลค่าเงินบาทได้ดีกว่า แต่ยอมรับว่าแนวโน้มปี 56 จะมีเงินไหลเข้าสุทธิจากปีก่อนที่การเคลื่อนย้ายเงินทุนจะมีความสมดุลย์ เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยและเอเชียมีโอกาสจะเติบโตได้มากกว่าประเทศในแถบตะวันตก แต่ขณะเดียวกันทางการได้พยายามออกมาตรการที่จะส่งเสริมการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น