สถาบันการเงินมีส่วนสนับสนุนภาคธุรกิจในการระดมทุนเพื่อออกไปลงทุนในต่างประเทศได้หลายรูปแบบ ภาคธุรกิจอาจมีความต้องการทั้งการกู้ยืมเป็นเงินตราต่างประเทศจากสถาบันการเงิน หรือ การระดมทุนในประเทศโดยการออกตราสารหนี้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ซึ่ง ธปท. เพิ่งผ่อนคลายให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศที่ออกในประเทศไทยได้ เป็นการเพิ่มช่องทางในการระดมทุนให้กับภาคเอกชน โดยสถาบันการเงินสามารถช่วยสนับสนุนในด้านการจัดจำหน่าย และการบริหารความเสี่ยงได้
ในทางกลับกัน ผู้ออมเองก็มีความต้องการลงทุนในเครื่องมือการออมที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะที่มีอยู่ในประเทศ แต่อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับชื่อเสียงของผู้ออกตราสารที่อยู่ในต่างประเทศ สถาบันการเงินจึงเป็นตัวกลางที่สำคัญในการนำผู้ออมและผู้ระดมทุนมาเจอกันข้ามพรมแดน
สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมากในการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมหรือการขนส่งของประเทศ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองในภูมิภาค ตลาดการเงินมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนแหล่งเงินทุนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อรองรับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น infrastructure fund หรือการสนับสนุนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูป public private partnership รวมทั้งการสร้างฐานนักลงทุนระยะยาว เพื่อรองรับความต้องการระดมทุนของภาครัฐ
นายประสาร กล่าวว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการยกระดับประเทศไทยย่อมหมายถึงความต้องการเงินทุนระยะยาวจำนวนมหาศาล ซึ่งมีผลต่อภาระหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภายใต้การระดมทุนภาครัฐ โดยยังคงรักษากรอบความยั่งยืนทางการคลังไวให้ได้
ความท้าทายของภาครัฐจึงเป็นการปรับการใช้จ่ายภาครัฐจากการเป็น catalyst ในการกระตุ้นและสนับสนุนการบริโภค มาเป็นการสนับสนุนการลงทุน (crowding in private investment) ในขณะที่ตลาดการเงินไทยก็ต้องช่วยแสวงหาเครื่องมือระดมทุนใหม่ๆ หรือการผลักดันการร่วมลงทุนโดยภาคเอกชน เพื่อให้การลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
ผู้ว่า ธปท. ระบุอีกว่า ที่สำคัญที่จะขาดไม่ได้ในตลาดการเงินไทย คือ การมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในด้านต่างๆ ในภาวะที่ตลาดการเงินของโลกผันผวนมากขึ้น และธุรกิจการเงินไทยเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ในระบบการเงินโลก ดังเช่น 3-4 ปีที่ผ่านมา
ตัวอย่าง เครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจ เช่น การพัฒนา currency futures และ interest rate futures เพื่อเป็นเครื่องมือให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางหรือนักลงทุนรายย่อยที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการเงินของสถาบันการเงิน
ในขณะที่เราพร้อมจะกระโดดเข้าแข่งขันในธุรกิจรุ่นใหม่ เราก็ต้องไม่ลืมความรับผิดชอบอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ การลดความเหลื่อมล้ำให้คนไทยกินดี อยู่ดี มีการกระจายรายได้และกระจายโอกาสที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ต้องมีการดูแลคุ้มครอง และให้ความรู้แก่ผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เขารู้รักษาสิทธิของตัวเอง และมีภูมิคุ้มกันทางปัญญา เช่น พนักงานธนาคารที่ขายหน่วยลงทุนจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนหรือผู้ออกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่างจากเงินฝากอย่างไร เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นความเสี่ยงทางด้านชื่อเสียงของสถาบันการเงินเอง