EXIM BANK ตั้งเป้ากำไรปี 56 ใกล้เคียงปี55 จากสินเชื่อคงค้างโต-การลงทุนขยายตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 17, 2013 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคนิสร์ สุคนธมาน กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เปิดเผยว่า ปี56 กำไรสุทธิจะใกล้เคียงกับปี 55 การขยายตัวของสินเชื่อคงค้างจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5% และคาดการณ์ว่าการส่งออกในปี 56 โต 8-9% จากปี 55 โต 3-4% เป็นผลมาจากปัจจัยที่สนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีแรงขับเครื่องจากตลาดใหม่ที่ขยายตัวในระดับสูง เช่น อาเซียน ที่จะช่วยกระตุ้นให้การค้าและการลงทุนในภูมิภาคขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมองว่าในปี 56 สินค้าที่จะส่งออกได้ดี เช่น น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย เครื่องจักรกล และรถแท็กเตอร์, ภาคการผลิตที่กลับสู่ภาวะปกติจากเหตุการ์อุทกภัยปี 54, ภาคสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเป็นผลจากนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไร ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้นตาม และส่งผลให้สินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นด้วย, นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนใช้ฐานการผลิตในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก คือ การแข็งค่าของเงินบาท ต้นทุนผู้ประกอบการมีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันโลก ที่ทรงตัวในระดับสูง และความขัดแย้งกรณีพิพาท จีน-ญี่ปุ่น

สำหรับทิศทางและนโยบายการดำเนินงานในปี 56 นั้น ธสน. ยังมุ่งเน้นการขยายการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าเชิงนโยบาย เช่น ส่งเสริมและพัฒากลุ่ม OTOP ไปสู่ผู้ส่งออก สนับสนุนโครงการเฉพาะกิจ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ของประเทศ รักษาฐานลูกค้าในเชิงพาณิชย์ โดยให้บริการทั่วไปแก่ผู้ส่งออก และนำเข้า บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น พัฒนาประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการและการให้บริการ

นายคนิสร์ กล่าวถึงกรณีที่เงินบาทแข็งค่านั้น แนะให้ผู้ประกอบการซื้อประกันความเสียเพิ่มและผู้ประกอบการไม่ควรเก็งกำไรในช่วงนี้เพื่อลดความเสี่ยงที่ตะตามมา

ส่วนผลการดำเนินงานปี 55 มีกำไรสุทธิ 1,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.82% เมื่อเทียบกับปี 54 มีกำไรสุทธิ 605 ล้านบาท รายได้รวมปี 55 อยู่ที่ 3,479 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.3% มี่ค่าใช้จ่ายจำนวน 688 ล้านบาท ลดลงจากปี 54 1.2% โดยส่วนใหญ่ป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยรับที่สูงขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อระยะกลางและระยะยาวเพี่อสนับสนุนโครงการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ลดลงทั้งด้านค่าใช้จ่ายดำเนินงานทั่วไปและค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยอันเกิดจากการบริหารจัดการด้านต้นทุนที่ดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ