ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีสำหรับบริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทยที่จะเข้าไปลงทุนกับภาครัฐหรือเอกชนของอินเดีย เช่น การขนส่งทางอากาศ สะพาน และการก่อสร้างสนามบิน รวมทั้งการเพิ่มเที่ยวบินระหว่าง 2 ประเทศเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนโดยใช้ประเทศไทยเป็นประตู โดยขณะนี้ทราบว่าสายการบินไทยสไมล์กำลังจะเปิดเที่ยวบินตรง นิวเดลี-ภูเก็ต มุมไบ-ภูเก็ต และอาเมห์ดาบัด-กรุงเทพฯ ในเร็วๆ นี้
ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ทั้งไทยและอินเดียมีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตของพืชอาหารที่มีความหลากหลาย รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับกิจการร่วมค้าระหว่างประเทศ โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 36 ของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนในประเทศอินเดียด้วยการจ่ายเงินการลงทุนโดยตรง (FDI) คิดเป็นมูลค่า 95 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องจักรและผลิตภัณฑ์แช่แข็ง อาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ และการก่อสร้าง ขณะที่อินเดียลงทุนในไทยประมาณ 460 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนพวกสารเคมี กระดาษ ผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมเบา ผลิตภัณฑ์พลาสติก รถยนต์และชิ้นส่วน และภาคบริการ
“วันนี้รัฐบาลทั้งสองประเทศจะส่งเสริมการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคผ่านเขตการค้าเสรีไทย-อินเดียและเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย ซึ่งนโยบาย Look East ของอินเดียและ Look West ของไทย สามารถนำไปสู่ความสำเร็จที่ใหญ่กว่าและดีกว่าสำหรับทั้งสองประเทศของเรา ดังนั้น นักธุรกิจของไทยจึงน่าจะใช้โอกาสนี้เข้าไปลงทุน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียซึ่งมีศักยภาพสูง" นางนลินี กล่าว
ที่ผ่านมาไทยและอินเดียมีความสัมพันธ์กันยาวนานกว่า 65 ปี โดยในด้านการค้าการลงทุนทวิภาคีในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เติบโตถึง 8,200 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2554 และคาดว่าจะขยายตัวถึง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในหนึ่งทศวรรษ