หน่วยงานภาครัฐ มองโครงการทวายช่วยเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาค ทั้งการจ้างงาน การขยายฐาน และช่วยหนุน GDP ไทยขยายตัวขึ้น ด้านบริษัทผู้ดำเนินโครงการทวาย มองรัฐต้องเป็นผู้นำเรียกความเชื่อมั่น และชักจูงผู้ประกอบการเข้าไปลงทุน อย่างไรก็ดี ยังมีภาคเอกชนบางส่วนมองว่า ยังขาดความชัดเจนในเรื่องของค่าขนส่ง และระยะเวลาการขนส่ง และเห็นว่าควรกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาท่าเรือในประเทศ เพราะมีความเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์มากกว่า
นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวในงานสัมมนา "บทบาทของโครงการทวายกับการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศไทย" ในหัวข้อกรอบแนวคิดในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวายว่า โครงการทวายไม่ใช่แค่ท่าเรือเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในภูมิภาค เช่น กัมพูชา เวียดนาม และไทยจะได้รับโอกาสหรือประโยชน์เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น GDP ของประเทศจะสูงขึ้น 1.9% เนื่องจากมีการจ้างงานในเขตเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจตามแนวชายแดนดีขึ้น, มีการขยายฐานของนักลงทุนต่างชาติและไทยทำให้เกิดอุตสาหกรรมต้นน้ำ ทำให้ระบบขนส่งโลจิสติกส์ของไทยสามารถขยายตัวเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค
นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า กรมทางหลวงมีความพร้อมในการพัฒนาโครงข่ายทางถนนเพื่อรองรับโครงการทวายโดยมีแผนการดำเนินงานตามแผนที่ 1 คือ เป็นการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางหลวงที่มีอยู่ในปัจจุบัน ช่วงจังหวัดกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน) -ชายแดนไทย พม่า ระยะทาง 78 กิโลเมตร ที่จะก่อสร้างเสร็จได้ในปี 58 และ แผนที่ 2 กับ 3 นั้น เป็นแผนการพัฒนาโครงข่ายถนนเชื่อมโยงบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ในรูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ ทั้งระบบตลอดเส้นทาง คือ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร จะก่อสร้างเสร็จได้ในปี 59 และกาญจนบุรี บริเวณบ้านพุน้ำร้อน -ชายแดนไทย พม่า ระยะทาง 70 กิโลเมตร คาดว่าจะเสร็จได้ในปี 61
ส่วนความเป็นไปได้ของการสร้างระบบขนส่งทางรถไฟจากพม่า-บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี นั้นมองว่าเป็นได้ยาก เนื่องจากเส้นทางจากพม่ามาไทย เป็นเทือกเขาตะนาวศรี ที่มีความสูงชัน โดยหลักถ้าจะมีการสร้างรางรถไฟต้องเจาะภูเขาเป็นอุโมงค์ แล้วทำทางขึ้นไปเป็นทางยกระดับ โดยจะต้องลงทุนถึง 2 หมื่นล้านบาทเป็นอย่างต่ำ ซึ่งงบประมาณอาจจะเทียบเท่าการสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย และการดำเนินการก่อสร้างรางรถไฟฟ้าก็คาดว่าจะต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี ทั้งนี้ต้องศึกษาความเป็นไปได้ก่อนรวมถึงต้องหารือกับทางประเทศพม่าด้วย
อย่างไรก็ดี ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากโครงการทวายนั้น มองว่า ภาคการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 10 % ในเขตเศรษฐกิจทวาย โดยเป็นการเข้าไปเที่ยวของคนไทย คนพม่า และคนต่างชาติ, มีการจ้างงานเข้าไปทำงานในขตเศรษฐกิจทวายมากขึ้น, ราคาที่ดินบ้านพุน้ำร้อนขึ้นราคา ทำให้ชาวกาญจนบุรีได้รับผลประโยชน์อย่างมาก
ด้านนายสมเจตน์ ทิณพงษ์ ผู้อำนวยการ บริษัท ทวายดีเวล็อปเมนต์ จำกัด กล่าวว่า ท่าเรือทวายไม่ใช่ท่าเรือธรรมดาแต่เป็นการสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ที่นักธุรกิจสามารถที่จะเข้ามาลงทุน โดยเป็นการนำเอารูปแบบท่าเรือมาบตาพุดและท่าเรือแหลมฉบังมาเป็นตัวอย่าง
สำหรับการลงทุนของชาวต่างชาติในพม่านั้น คาดว่าพม่ามีแนวโน้มที่จะเก็บอัตราภาษีการขายสินค้าและบริการ(GST)ลดลง ซึ่งจะทำให้มีนักลงทุนเข้ามาขยายฐานการผลิตและสร้างอุตสาหกรรมในเขตทวายมากขึ้น
โดยปีนี้จะส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมก่อน เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะยางพารา เนื่องจากยางพาราเป็นสินค้าที่ต้องการของหลายประเทศ และสิ้นปี 56 จะเปิดให้นักลงทุนเข้ามาจับจองพื้นที่ในการตั้งฐานอุตสาหกรรม โดยให้พื้นที่ไม่เกินรายละ 1 ตารางกม.
อย่างไรก็ดี โครงการทวายจะประสบผลสำเร็จได้นั้นขึ้นอยู่กับความร่วมมือของภาครัฐกับภาคเอกชน รวมทั้งรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า โดยรัฐบาลไทยต้องออกมาเป็นผู้นำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและชักจูงผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนให้มากที่สุด
"ถ้าไม่มีความมั่นใจจาก G to G - B to G ก็ไม่เกิด" นายสมเจตน์ กล่าว
ด้านนายสุวัฒน์ อัศวทองกุล ประธานสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ(BSAA) กล่าวว่า ท่าเรือทวายจะเป็นท่าเรือในระดับภูมิภาค โอกาสที่ทวายจะพัฒนาไปเป็น Hub ได้หรือไม่นั้นตนมองว่าคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องมีสินค้าจากประเทศสิงคโปร์, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เข้ามาอย่างมาก ดังนั้นจึงแนะรัฐบาลให้วิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์ให้ดี เนื่องจากระยะทางที่จะส่งสินค้าไปทวายนั้นมีระยะทางไกล ต้องใช้ระยะเวลานาน และนานกว่าที่ส่งจากท่าเรือกรุงเทพฯ หรือแหลมฉบัง โอกาสที่จะให้ผู้ส่งออกนำสินค้าไปทวายนั้นน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้าย
นายสุวัฒน์ แสดงความต้องการให้รัฐบาลหันกลับมามองและส่งเสริมพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เนื่องจากท่าเรือดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ อีกทั้งทำให้ผู้ประกอบการประหยัดเวลาการส่งสินค้าไปท่าเรือด้วย
นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ท่าเรือทวายเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของพม่าที่อาจจะสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยได้ ในมุมมองของภาคเอกชนนั้น ทวายจะช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุน ซึ่งภายใน 2 ปีนี้มองว่าการลงทุนด้านการท่องเที่ยว, พลังงาน, ภาคการเกษตรจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในเขตเศรษฐกิจทวาย ดังนั้นเมื่อท่าเรือทวายเกิดขึ้นก็จะมีท่าเรือน้ำลึกในภูมิภาคเป็นอีกหนึ่งทางเลือก มีแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ซึ่งค่าใช่จ่ายที่ถูกลงน่าจะจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนได้
อย่างไรก็ดี ท่าเรือทวายยังคงเป็นตัวเลือกที่มีความห่างไกลมากที่ผู้ประกอบการจะนำสินค้าไปทวาย เนื่องจากค่าขนส่งเดินเรือต่างๆ ยังคงไม่มีคำตอบจากทางรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทยว่าจะถูกลงได้หรือไม่ อีกทั้งเรื่องของเวลาทำการของท่าเรือ ซึ่งผู้ประกอบการจะมีความมั่นใจได้อย่างไรว่าจะมีเรือเข้ามาถี่หรือไม่ เนื่องด้วยผู้ประกอบการต้องส่งสินค้าให้ตรงตามกำหนดเวลาที่มีการตกลงกันไว้ระหว่างลูกค้ากับผู้ประกอบการ
พร้อมกันนี้ ได้แนะให้รัฐบาลทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นว่าภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจะสามารถเข้าไปลงทุนโดยที่มีค่าขนส่งที่ถูกหรือไม่ และระยะเวลาเอกชนจะขนส่งสินค้าได้ตรงตามกำหนดเวลาหรือไม่ รวมถึงการขยายฐานการผลิตบางอุตสาหกรรมที่จะสามารถเข้าไปลงทุนได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเล, อุตสาหกรรมต้นน้ำอื่น แต่อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ปิโตรเคมี, พลาสติก รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs อาจจะเข้าไปลงทุนได้ยาก
ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมนำความคิดเห็นดังกล่าวของภาคเอกชนไปหารือ เนื่องจากการเก็บค่าขนส่งที่ถูกลงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย พร้อมกันนี้ได้ขอให้ผู้ประกอบการอย่ามองว่าไทยมีท่าเรือที่ใหญ่อย่างแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพอยู่แล้ว แต่ต้องมองไปถึงว่าไทยจะมีท่าเรือที่ขนส่งเพิ่มและจะได้รับประโยชน์จากท่าเรือทวาย อีกทั้งรัฐบาลพร้อมจะเป็นผู้นำชักจูงนักลงทุนไทยไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจทวายด้วย