นายกรัฐมนตรี กล่าวในระหว่างเป็นประธานมอบนโยบายสำหรับขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศและการชี้แจงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 โดยเน้นย้ำ 4 ยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนประเทศและรองรับเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในปี 58 ประกอบด้วย 1.การสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากประเทศรายได้น้อย เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง 2.ยุทธศาสตร์ลดความเหลี่อมล้ำ เพื่อสร้างโอกาสความเสมอภาค และความเท่าเทียมกับสังคม ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม 3.ยุทธศาสตร์ สร้างความเติบโตบนพื้นฐานคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 4.ยุทธศาตร์การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
"เชื่อมั่นว่าทั้ง 4 ยุทธศาสตร์จะนำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศ ตามนโยบายขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า การบริหาราชการกว่า 1 ปีที่ผ่านมามีความท้าทาย เพราะมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่ยังไม่นิ่ง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจที่มีความผันผวน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรปที่ให้ความสำคัญประชาธิปไตย และความเท่าเทียม เศรษฐกิจของประเทศที่ไม่สมดุล และสังคมขาดการดูแล แต่ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากเกิดอุทกภัยและวิกฤตเศรษฐกิจโลก ผ่านนโยบายของรัฐบาลทั้ง 16 โครงการ สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 0.7% ขณะที่นโยบายรถคันแรกมีประชนใช้สิทธิกว่า 1.25 ล้านคัน โดย 26% เป็นรถจดทะเบียนกรุงเทพ ส่วนที่เหลือกระจายไปในต่างจังหวัด สะท้อนว่าเกษตรกรมีกำลังซื้อมากขึ้น ขณะที่ด้านการลงทุนมีนักธุรกิจขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเพิ่มขึ้นกว่า 2,500 ล้านบาท
สำหรับในปีงบประมาณ 57 รัฐบาลมีแผนจะลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท และงบลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 2.2 ล้านล้านบาท ขณะที่รัฐบาลยังตั้งเป้าหมายลดการขาดดุลลงบประมาณลดลง โดยคาดว่าจะเข้าสู่งบสมดุลในปี 60
ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 56 อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ตั้งเป้ารายได้ที่ 2.1 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลจะดำเนินนโยบายในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อลดการขาดดุลลงอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท และในปี 57 จะลดการขาดดุลงบประมาณลงมาอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท โดยเชื่อมั่นว่าใน 3 ปีจะทำให้มีรายจ่ายและรายรับสมดุลกัน
ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการยุทธศาสตร์ที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ พร้อมกับการลงทุนแบบต่อเนื่องก็เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน และเชื่อมั่นว่างบประมาณในการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท จะเป็นการกู้เงินจากต่างประเทศ และไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระหนี้และสามารถชำระหนี้ได้อย่างไม่มีปัญหาไปพร้อมกับการสร้างวินัยทางการคลัง โดยจะกู้ให้อยู่ในกรอบระยะเวลา 7 ปีครึ่งได้ ซึ่งการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาทจะทำให้ GDP เติบโตได้ปีละประมาณ 1-1.5% ขณะที่กรอบเงินเฟ้ออาจจะเพิ่มขึ้น 0.1-0.20% แต่ยังคงอยู่ในกรอบ 3%
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เชื่อมั่นว่า แม้รัฐบาลจะจัดทำงบประมาณขาดดุล แต่จะเป็นการขาดดุลในการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลอาจมีปัญหาด้านวินัยทางการคลัง โดยรัฐบาลจะดูแลในส่วนนี้อย่างใกล้ชิด โดยหลังจากนี้การขาดดุลทางการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังมีบ้างแต่ไม่มาก และอาจจะทำให้ค่าเงินบาทโดยรวมอ่อนค่าลงมาบ้าง แต่จะไม่ส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศมีความผันผวนรุนแรง เพราะขณะนี้รัฐบาลมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการที่จะสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้มีอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืน
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ยืนยันความพร้อมเดินหน้าโครงการรถรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง โดยขณะนี้มีความคืบหน้าไปกว่า 50% ซึ่งเชื่อว่าภายในระยะเวลา 5-10 ปี จะสามารถเปิดให้บริการในแต่ละเส้นทางได้ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และเป็นการลดต้นทุนทางด้านการขนส่งได้อีกมาก
สำหรับการจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 นั้น ในช่วง 1-2 เดือนนี้ ทุกหน่วยงานจะต้องเสนอของบเข้ามายังสำนักงบประมาณให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีในวันที่ 9 เม.ย.56 หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป