ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกกุ้งไทยปี 56 ฟื้นตัว แต่แนะจับตาปัจจัยเสี่ยงใกล้ชิด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 22, 2013 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดแนวโน้มการส่งออกกุ้งสดแช่แข็งและแปรรูปของไทยในปี 2556 น่าจะขยายตัวร้อยละ 3-7 (YoY) โดยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จากที่คาดว่าการส่งออกกุ้งในปี 2555 หดตัวลงถึงร้อยละ 14 (YoY) เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกกุ้งหลักของไทย มีทิศทางที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้กำลังซื้อของตลาดหลักกลับคืนมา

ประกอบกับปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งตั้งแต่ปี 2555 ที่หากคลี่คลายได้ อาจส่งผลให้การส่งออกกลับมากระเตื้องขึ้นภายในช่วงครึ่งปีหลัง อาทิ ปัญหาด้านแรงงาน ที่ปัจจุบัน ไทยถูกจัดให้อยู่ใน Tier 2 Watch List, ปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (EMS) นอกจากนี้ การปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าภาพรวมของการส่งออกกุ้งในปี 2556 จะฟื้นตัวและสามารถขยายการส่งออกได้ประมาณร้อยละ 3-7 (YoY) แต่ในระยะถัดไป อุตสาหกรรมกุ้งไทยก็ยังคงเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรม ได้แก่ การยกเลิกให้สิทธิ GSP ของสหภาพยุโรป ซึ่งครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูป โดยไทยจะต้องกลับไปใช้ภาษีในอัตราปกติในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (ปรับเพิ่มขึ้นจากอัตรา GSP ร้อยละ 7 เป็นอัตราปกติร้อยละ 20) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึง 31 ธันวาคม 2559 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญในอนาคต

การใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุนของสหรัฐฯ (Countervailing Duty: CVD) ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนของการไต่ส่วนทั้งทางด้านอุตสาหกรรมกุ้งภายในของสหรัฐฯ และไทย โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 1.5-3 เดือน และคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในครึ่งปีแรก ซึ่งหากไทยถูกเรียกเก็บภาษีต่อต้านการอุดหนุน เพิ่มเติมจากเดิมที่ปัจจุบัน ถูกเรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti dumping) ในอัตราร้อยละ 1.38 ก็จะยิ่งส่งผลลบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากุ้งไทยในตลาดสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น

ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนในทิศทางแข็งค่าขึ้น อาจมีผลกระทบต่อราคาส่งออกกุ้งของไทยให้มีราคาสูงขึ้น แม้ว่าผู้ประกอบการบางรายจะได้รับยอดคำสั่งซื้อทั้งปี และทยอยส่งมอบตามช่วงเวลาที่ลูกค้ากำหนด ทำให้อาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบต่อการส่งออกในระยะสั้น แต่หากค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลกระทบต่อยอดคำสั่งซื้อในอนาคต

ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมกุ้ง และสินค้าเกษตรแปรรูปขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

จากปัจจัยเสี่ยงข้างต้นที่อุตสาหกรรมกุ้งไทยอาจต้องเผชิญในระยะถัดไป ล้วนส่งผลต่อต้นทุนในการประกอบธุรกิจ และความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ประกอบการไทยในอนาคต ดังนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจและผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงควรติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมวางแผนรับมือภาระต้นทุนที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยสามารถที่จะรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดต่างๆ ได้

ทั้งนี้ แนวทางในการปรับตัวที่สำคัญของผู้ประกอบการ ควรเร่งบริหารจัดการต้นทุนในการผลิตและการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน การให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปเพื่อสร้างความหลากหลาย และสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในแต่ละตลาดมากขึ้น ตลอดจน ควรเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าโดยการพัฒนาวัตถุดิบกุ้งให้สามารถส่งออกในรูปของอาหารสำเร็จพร้อมทานมากขึ้น นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนา/ปรับปรุงมาตรฐานการผลิต มาตรฐานสินค้า รวมถึงการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำของกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ