"เศรษฐกิจปัจจุบันเปรียบเหมือนเรือที่ได้แล่นผ่านพ้นมรสุมใหญ่ไปแล้ว แต่คลื่นลมก็ยังแรง และมีเค้าลางของเมฆที่อาจก่อตัวเป็นพายุในน่านน้ำข้างหน้าได้อีกครั้ง โจทย์สำคัญของผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภายใต้ความเสี่ยงที่อาจแอบแฝงก่อตัวอยู่ในเวลานี้ คือ ทำอย่างไรให้เรือแล่นไปสู่จุดหมายได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด การดำเนินนโยบายที่มองไปข้างหน้าและมีลักษณะ proactive เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง...ความท้าทายในเวลานี้อยู่ที่การรักษาสมดุลของการดำเนินนโยบายด้านต่าง ๆ เพื่อให้การสร้างประสิทธิผลสูงสุดของนโยบายนั้น ๆ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ที่ยั่งยืนของประชาชน กล่าวคือ ความมั่นคงปลอดภัย และความมีเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินไทย"ผู้ว่า ธปท.ระบุในเอกสารเผยแพร่
นายประสาร กล่าวว่า เมื่อเรามองไปข้างหน้า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวมดูจะลดลงไปบ้าง จากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชัดเจนขึ้นว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย โดยการบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกที่มีผลต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า รวมทั้งการปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะบังคับใช้ในปีภาษี 56
นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการในประเทศที่ยังแข็งแกร่ง การซ่อมสร้างในบางอุตสาหกรรมที่ยังไม่เสร็จสิ้น รวมทั้งการลงทุนที่สืบเนื่องจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ขณะที่ภาคการส่งออกจะเริ่มทยอยฟื้นตัวจนกลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งหมดนี้จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่องหลังจากที่แรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐบางส่วนทยอยสิ้นสุดลง
ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แม้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบที่ 2 อาจไม่ได้ส่งผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่สามารถบริหารจัดการต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ ผนวกกับการปรับราคาสินค้ายังทำได้ยากในภาวะที่การแข่งขันทางธุรกิจสูง แต่ก็ยังต้องติดตามผลกระทบจากประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป ความท้าทายกับการดำเนินนโยบายในปี 56
ในการดำเนินนโยบายการเงิน เป้าหมายหลักคือการดูแลให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ โดย กนง. จะพิจารณาตัดสินนโยบายจากความเสี่ยงทั้งด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านเงินเฟ้อ รวมทั้งด้านเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งในปีนี้ ความท้าทายแรกจะอยู่ที่ การรักษาสมดุลระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน เพราะหากต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่อง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นต้นทุนในการกู้ยืมไว้ในระดับต่ำนานเกินไปอาจจูงใจให้ภาคเอกชนก่อหนี้สินมากเกินควร หรือกระตุ้นให้ผู้ฝากเงินหันไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ามากขึ้น และอาจนำไปสู่การสะสมความไม่สมดุลในระบบการเงินหรือภาวะฟองสบู่ได้ในอนาคต
การดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันจึงต้องทำควบคู่กับการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินดังเช่นที่ผ่านมา ธปท.ได้พยายามให้ความสำคัญในการติดตามประเด็นการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคล และประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม ที่มีรายได้ต่ำ
ความท้าทายที่สองอยู่ที่การดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีความผันผวนขึ้น รวมทั้งติดตามและประเมินผลกระทบของค่าเงินบาทต่อภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่ง ธปท.ได้เตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ (policy options) โดยจะพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสม ที่สำคัญคือการวางโครงสร้างและเตรียมความพร้อมแก่ภาคเอกชน เช่น มาตรการรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยจะผ่อนคลายหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนขาออกตามแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ทยอยปรับปรุงตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ธปท.สนับสนุนให้คนไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน และส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นชำระค่าสินค้า โดยเริ่มจากการใช้เงินหยวนเป็นการนำร่อง รวมทั้งลดอุปสรรคในส่วนของระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ AEC นอกจากนี้ ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับมือกับอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนมากขึ้น หลังจากที่ปล่อยให้ค่าเงินยืดหยุ่นและเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้นในปีที่ผ่านมา
นายประสาร กล่าวอีกว่า การเติบโตของระบบเศรษฐกิจกับพัฒนาการของระบบสถาบันการเงินเป็นสองสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นควบคู่กันไป แม้ระบบสถาบันการเงินไทยจะมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและมีส่วนสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างดีมาโดยตลอด แต่ยังมีหลายจุดที่ต้องผลักดันต่อเนื่อง ในแง่ของความทั่วถึงของการให้บริการทางการเงิน ธปท.จะหารือและร่วมมือกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องในการขยายบทบาทให้ แบงก์พาณิชย์ และ non-bank ให้บริการ microfinance โดยใช้รูปแบบธุรกิจ (business model) ที่เหมาะสมกับลักษณะของความเสี่ยงและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ในขณะเดียวกัน ในแง่ของความเข้มแข็งมั่นคงของสถาบันการเงิน ก็จำเป็นต้องเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินให้สามารถรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ได้ในทุกสถานการณ์ โดยดูแลให้สถาบันการเงินมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม
นอกจากนี้ ในปีนี้จะมีการกำหนดกรอบการให้ใบอนุญาตแก่แบงก์พาณิชย์ต่างประเทศที่จะเข้ามาดำเนินการในประเทศไทย ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 อีกทั้งจะมีการกำหนดกรอบเจรจาเพื่อเอื้อให้แบงก์พาณิชย์ไทยสามารถขยายธุรกิจตามการเปิดเสรี Qualified ASEAN Bank (QAB) ภายใต้ AEC
นายประสาร กล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างการเตรียมทำข้อเสนอการออกใบอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาในไตรมาส 1/56 หลังจากนั้นคาดว่ากระทรวงการคลังจะพิจารณาได้ในไตรมาส 2/56 และมีเวลาดำเนินการต่างๆในช่วงครึ่งปีหลัง และมีผลบังคับใช้ในต้นปี 57
การออกใบอนุญาตดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นการเตรียมการเพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเข้ามาดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความร่วมมือในภูมิภาคภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
"ไม่น่าเป็นอุปสรรคต่อแบงก์ไทย แต่จะเป็นประโชน์ต่อผู้ใช้บริการมากกว่า" ผู้ว่า ธปท.กล่าว
ในปีนี้ ธปท.ตั้งเป้าที่จะขยายระบบ ICAS ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียกเก็บเช็คข้ามจังหวัด จากปัจจุบันที่ต้องใช้เวลา 3-5 วันทำการในการเรียกเก็บ ก็จะเหลือเพียง 1 วันทำการ เพื่อสนับสนุนให้เงินหมุนเวียนในระบบเร็วขึ้น ต้นทุนลดลง และส่งเสริมให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และน่าเชื่อถือ รวมทั้งส่งเสริมการใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทดแทนการใช้เงินสด
โดย ธปท.จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ รวมถึงการยกระดับระบบการชำระเงินไทยให้เอื้อต่อการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น อาทิ การบริหารจัดการความเสี่ยงจากการชำระดุลเงินตราต่างประเทศในเขตเวลาที่ต่างกัน และการกำหนดมาตรฐานการชำระเงินที่เป็นสากลเพื่อให้ระบบการชำระเงินสามารถเชื่อมโยงกันได้ และเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ AEC สิ่งเหล่านี้จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการกำกับดูแลระบบการชำระเงิน และธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมด้วย
ผู้ว่า ธปท.กล่าวอีกว่า ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยขณะนี้มองว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่เป็นความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจ ราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้อยู่ระดับสูงเกินไป โดยเศรษฐกิจระดับจุลภาคได้เห็นการก่อสร้างโครงการใหม่ๆ ขณะที่ประชาชนมีความต้องการซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือคอนโดมิเนียม
อย่างไรก็ตาม การกำหนดอัตราสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(LTV)ในการซื้อคอนโดมิเนียม ถือเป็นการส่งสัญญาณให้ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ แต่ไม่ได้เป็นมาตรการที่เคร่งครัดเข้มงวดมากเกินไป ประกอบกับดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับต่ำ จึงอาจนำไปสู่ความเสี่ยงได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม