จากบทวิจัยภาพรวมเศรษฐกิจปี 55 และแนวโน้มปี 56 ของกลุ่ม SIRI วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 55 ว่าสามารถขยายตัวได้ถึง 5.5% เมื่อเทียบกับปี 54 ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี อีกทั้งประเทศไทยยังคงรักษาการเป็น 20 อันดับแรกของประเทศที่น่าลงทุน ซึ่งอ้างอิงจากผลการวิจัยประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจประจำปี 55 ของธนาคารโลก ซึ่งมาจากการปฏิรูปที่สำคัญ 2 ด้าน คือ การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่ทำได้ง่ายขึ้น และมีต้นทุนในการดำเนินงานที่น้อยลงจากการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็นร้อยละ 23% ในปี 55 และจะลงมาอยู่ที่ 20% ในปีนี้ จะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในปี 56
ด้วยปัจจัยที่สำคัญต่างๆ ได้แก่ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยมีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุน อย่างไรก็ตาม หากมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นทางเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลสิ้นสุด อาจจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปี 56 อยู่ที่ 5.0% โดยจะมีการปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจอีกครั้งจะเป็นช่วงกลางปี
นอกจากนี้ หากพิจารณาปัจจัยการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญๆ อาทิ อัตราการว่างงานในช่วง 10 เดือนแรกของปี 55 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 0.72% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมากและคาดว่าจะทรงตั้วอยู่ในระดับนี้ต่อเนื่องจนถึงปี 56 ตามการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และการก่อสร้า
ด้านอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 55 อยู่ที่ 3.0% ลดลง 0.8% จากปี 54 ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณสินค้าในตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังเกิดการขาดแคลนในช่วงวิกฤตอุทกภัย ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ซึ่งอยู่ในกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 0.5-3.0%
ส่วนด้านราคาวัสดุก่อสร้างในปี 55 มีการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 1-2 เมื่อเทียบกับปี 54 ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณวัสดุก่อสร้างในปี 55 ไม่ได้อยู่ในภาวะขาดแคลนดังเช่นวิกฤตมหาอุทกภัยปลายปี 54 ประกอบกับภาคอสังหาริมทรัพย์มีโครงการเปิดใหม่ไม่มากเท่ากับปี 53-54 จึงทำให้มีการปรับราคาวัสดุเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ พบว่าดัชนีความเชื่อในการซื้อบ้านหลังใหม่ในปี 55 โดยรวมฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลว่าจะเกิดอุทกภัยซ้ำในช่วงเดือนกันยายน ทำให้รอดูสถานการณ์และชะลอการตัดสิดใจซื้อออกไป แต่ในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ดัชนีมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ จึงประเมินได้ว่าธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยใน 6 เดือนแรกของปี 56 นี้ จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมพร้อมที่คาดว่าจะส่งผลต่อการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ไทยในอนาคตคือวิกฤตทางด้านแรงงานขาดแคลน และต้นทุนการบริหารจัดการที่อาจจะเพิ่มขึ้น รวมถึงยังต้องระมัดระวังความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จะผันแปรตามปัจจัยภายนอกต่างๆ อีกด้วย
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตเรื่องฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น โดยภาพรวมยังไม่พบปัจจัยที่จะก่อให้เกิดภาวะดังกล่าว รวมทั้งสถาบันการเงินต่างๆ มีมาตรการเข้มงวดและรัดกุมในการให้สินเชื่อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเองได้ยืนยันว่าไม่พบสัญญาณที่น่าเป็นห่วง ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ส่วนธุรกิจบริหารจัดการด้านอสังหาริมทรัพย์จะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พร้อมทั้งมีมาตรฐานและการพัฒนาต่างๆ เทียบเท่าระดับสากล