อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านบวกและด้านลบ โดยในด้านบวกจะเป็นผลดีต่อผู้นำเข้าสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบ และสินค้าหมวดพลังงาน ขณะเดียวกันในด้านลบจะส่งผลเสียต่อผู้ส่งออกและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศ ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องพยายามดูแลค่าเงินบาทให้เกิดเสถียรภาพ
ทั้งนี้ หลังจากโครงการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ได้แก่ โครงการขนส่งระบบราง, โครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เป็นต้น เริ่มดำเนินการก็จะมีความจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าและเครื่องจักรจากต่างประเทศ ก็จะทำให้ภาวะการเกินดุลการค้ากลับเข้าสู่ภาวะสมดุลหรือขาดดุลเล็กน้อย
"การเกินดุลจะกลับมาสู่ภาวะสมดุลหรืออาจจะขาดดุลได้นิดๆ ซึ่งไม่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่าไปโดยปริยาย แต่จะกลับมาอ่อนค่าได้เอง" นายกิตติรัตน์ กล่าว
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การที่ประเทศใหญ่อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของตัวเองย่อมส่งผลให้เกิดความกดดันต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ แต่จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจโลกกลับมาสู่ภาวะปกติ จึงเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับและแต่ละประเทศย่อมมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในของตนเองแตกต่างกันไป
สำหรับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น งบประมาณที่นำมาใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีความสมดุลกับเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามา
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า สถานการณ์เงินบาทปรับตัวแข็งค่าที่เกิดขึ้นในขณะนี้ย่อมทำให้มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ จึงเป็นปัญหาท้าทายความสามารถของผู้บริหารประเทศที่จะหามาตรการดูแลให้เกิดภาวะสมดุล ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน กำลังซื้อลดลง ทำให้ต้องลดการพึ่งพาการส่งออกแล้วมาใช้กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1.กำลังซื้อในประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนในประเทศให้สามารถจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น 2.การลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะต้องมีความโปร่งใส สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และ 3.การลงทุนภาคเอกชน ซึ่งจำเป็นต้องมีปัจจัยที่เอื้อให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุน ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยต่ำ อัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม และการเมืองมีเสถียรภาพ
ในปี 56 กำลังซื้อในประเทศยังเป็นกลไกในการทำงานที่ดี ส่วนการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนยังดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะต้องมีความพร้อมมากที่สุด และไม่กังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวล
"การสร้างหนี้ควบคู่ไปกับการสร้างทรัพย์สินที่มีประโยชน์ถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะทำให้ประเทศสามารถเติบโตได้ในระยะยาว" นายกิตติรัตน์ กล่าว