"หม่อมอุ๋ย"แนะอนาคตศก.ไทยต้องเพิ่มแรงส่งทดแทนส่งออก,จวกประชานิยม"มักง่าย"

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 23, 2013 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล อดีต รมว.คลัง กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ"โจทย์ท้าทาย อนาคตเศรษฐกิจไทย"ว่า ถือเป็นโจทย์ท้าทายที่ต้องกลับไปมองให้ประเทศมีแรงส่งอื่นๆที่จะเข้ามาทดแทนการส่งออก โดยต้องขยายฐานภาคผลิตสินค้าที่เราเป็นผู้ค้าสำคัญของโลก เพื่อผลิตสินค้าป้อน Trade Network ที่มีอยู่ ซึ่งรัฐบาลต้องเข้ามาส่งเสริมอย่างจริงจัง

พร้อมกันนั้นจะต้องขยายการค้าในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ด้วยสินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน และต้องทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งเสรีทางการค้าเพื่อดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยว รวมทั้ง ขยายการค้ากับประเทศรอบด้านโดยอาศัยความได้เปรียบทางทางภูมิศาสตร์ เช่น ขยายเส้นทางรถยนต์ รถไฟ เส้นทางน้ำ ภายในประเทศที่สะดวกรวดเร็ว ปรับกฎระเบียบการค้าให้คล่องตัวที่สุด มีเงื่อนไขน้อยที่สุด ส่งเสริมการขยายฐานการผลิตออกไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ผลจริงจัง

"โจทย์ท้าทายอนาคตเศรษฐกิจไทย มีอยู่ 2 ด้าน คือ ด้านหนทางเศรษฐกิจจะเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างไร และ ด้านการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างมั่นคง" อดีตรมว.คลัง กล่าว

อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตรมว.คลัง กล่าวอีกว่า ต้องย้อนกลับไปดูว่า ปัจจัยที่หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาจากอะไร โดยก่อนปี 2500 ประเทศไทยเจริญเติบโตด้วยภาคเกษตรกรรม มีการส่งออกพืชผลและแร่ มีการค้าขายในประเทศ โดยเศรษฐกิจมีการเติบโตไม่ถึง 5%

แต่พอหลังจากปี 2500-2525 ไทยเปิดประเทศมากขึ้นมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ มีการเพิ่มอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า (ปลายน้ำ) ส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป และธุรกิจบริการอื่นๆ ซึ่งเศรษฐกิจโตถึง 6-7% และเมื่อปี 2525-2550 ประเทศไทยเดินหน้าอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบมีอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นส่วนของ Supply Chain ของภูมิภาคและโลก ซึ่งเป็นการก้าวกระโดดอย่างมาก มีการส่งออกสินค้าหลากหลายประเภททุกรูปแบบ ธุรกิจบริการก้าวหน้า โดยเศรษฐกิจช่วงนั้นโต 8-10%

แต่หลังปี 2550 เศรษฐกิจมีการชะลอตัวลง 4-5% เนื่องจากแรงงานเริ่มขาดแคลนทำให้ต้องจ้างแรงงานต่างชาติ พื้นที่สำหรับลงทุนมีจำกัดลง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ไม่ดูแลรักษาเรื่องวินัยการเงินการคลังให้ดี นโยบายประชานิยมที่นำมาใช้เป็นการหาคะแนนนิยมด้วยวิธีการที่มักง่าย ขาดความละอายต่อบาป(หิริโอตัปปะ) ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหายต่องบประมาณของแผ่นดิน โดยผลเสียจะไปตกกับรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารงานต่อจากรัฐบาลนี้ และคงเป็นเรื่องยากที่จะหาแนวทางป้องกันไม่ให้มีการนำงบประมาณไปใช้ในการสร้างคะแนนนิยมให้กับตัวเอง

ทั้งนี้ ยอดหนี้สาธารณะก่อนขาดทุนรับจำนำข้าวอยู่ที่ 8.6 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าหากดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อไป หนี้สาธารณะ ณ สิ้น เดือนกันยายน ปี 2562 จะอยู่ที่ 10.3 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 63.7% ของ GDP


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ