สาเหตุที่คาเมรอนอยากจะจัดทำประชามตินั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการกดดันของกลุ่มต่อต้านยุโรปในพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลผสมที่มีอำนาจต่อรองมากขึ้น อีกทั้งปัญหาเศรษฐกิจและมาตรการรัดเข็มขัดภายในประเทศเอง ส่งผลให้นายคาเมรอนต้องหาทางออก เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปภายใต้ทิศทางที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ
ล่าสุด นายคาเมรอนได้กล่าวสุนทรพจน์ในช่วงบ่ายวันนี้ตามเวลาไทย (23 ม.ค.) ใจความส่วนหนึ่งมีว่า เขาต้องการที่จะเจรจาเรื่องความสัมพันธ์ของอังกฤษกับอียูอีกครั้ง ก่อนที่จะขอให้ประชาชนลงคะแนนเสียง ซึ่งชาวอังกฤษสามารถตัดสินใจได้ว่าจะยอมรับผลการเจรจา หรือออกจากกลุ่มอียู
ประเด็นสถานภาพของอังกฤษก่อให้เกิดคำถามและความเห็นตามมามากมาย นายเฮอร์มาน ฟาน รอมปุย ประธานสภายุโรป กล่าวว่า ผลประโยชน์ของยุโรปควรเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดอยู่เสมอ อียูไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับความกังวลในระดับประเทศเท่านั้น
ขณะที่นายเวอร์เนอร์ เฟย์แมนน์ รัฐมนตรีคลังออสเตรียกล่าวก่อนหน้านี้ว่า แนวทางการเคลื่อนไหวของนายกฯอังกฤษนั้นเต็มไปด้วยปัญหา และเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศสมาชิกอียูอีก 26 ประเทศต่อต้านอังกฤษ การเกลี้ยกล่อมนายคาเมรอนถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเราเป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่ได้แยกเป็นกลุ่มๆ ประการต่อมาเราต้องการผลลัพธ์ที่ควรค่าสำหรับความพยายามของยุโรป
นายแอนเดอร์ส บอร์ก รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสวีเดน เป็นห่วงเกี่ยวกับจุดยืนของอังกฤษในสหภาพยุโรป และการถอนตัวจากกลุ่มจะส่งผลกระทบต่อสถานภาพของลอนดอนในฐานะศูนย์กลางการเงินชั้นนำของโลก
“คงเป็นเรื่องยากที่จะมองว่าลอนดอนยังคงเป็นศูนย์กลางการเงิน หากอังกฤษถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป เพราะเมื่อคุณไม่ได้มีส่วนร่วมในการหารือแล้ว ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะมีความน่าเชื่อถือ" รมว.คลังกล่าว
ผลการศึกษาเมื่อเดือนก.ย.โดยบริษัทที่ปรึกษา Z/Yen Group ระบุว่า ลอนดอนได้รับการจัดอันดับให้ขึ้นแท่นอันดับหนึ่ง แซงหน้านิวยอร์กและฮ่องกงในฐานะของศูนย์กลางการเงินที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงสุดของโลก ด้านเดอะซิตี้ยูเค ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้ในลอนดอนระบุว่า ลอนดอนเป็นศูนย์กลางการซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงการปล่อยกู้ของธนาคารข้ามชาติ โดยมีบริษัทต่างๆชาติเข้ามาทำธุรกรรมมากกว่าศูนย์กลางการเงินอื่นๆ
ขณะที่นิค เคลก รองนายกรัฐมนตรีอังกฤษมองว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจจะสร้างความเสียหายให้กับการเติบโตและการจ้างงาน ทางด้านนายเอ็ด มิลิแบนด์ หัวหน้าพรรคแรงงาน กล่าวว่า การจัดประชามติก่อนรู้ผลการเจรจาของประเทศสมาชิกอื่นๆของอียู อาจสร้างความคลุมเครือที่จะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของอังกฤษในอนาคต
ทางด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวกับนายคาเมรอนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับอังกฤษที่มีความแข็งแกร่งในกลุ่มอียู ซึ่งมีความแข็งแกร่งเช่นกัน
อังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสหภาพยุโรป ได้ยื่นเรื่องเพื่อขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปเมื่อปี พ.ศ. 2503 แต่ประธานาธิบดีชาลส์ เดอ โกล ของฝรั่งเศสคัดค้าน ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีเอ็ดเวิร์ด ฮีธ ต้องเริ่มการเจรจาต่อรองใหม่ และในที่สุดอังกฤษก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกอียูเมื่อปี 2516
แม้ว่าอังกฤษจะกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกไปแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะราบรื่น เมื่อปี 2527 อังกฤษได้แสดงจุดยืนของตนเอง โดยนางมากาเร็ต แทธเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษสามารถทำข้อตกลงเพื่อให้อังกฤษได้มาซึ่งผลตอบแทนจากการลงขันด้านงบประมาณ
อังกฤษในยุคต่อมาภายใต้รัฐบาลชุดโทนี่ แบลร์ จากพรรคแรงงาน วางแผนที่จะใช้สกุลเงินยูโรภายหลังปี 2540 แต่แนวคิดดังกล่าวถูกขวางโดยกอร์ดอน บราวน์ รัฐมนตรีคลัง
จนกระทั่งถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ถูกแรงกดดันทางการเมืองจากสมาชิกพรรคและพรรคฝ่ายค้านให้หันมาทบทวนถึงจุดยืนของประเทศว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
ผลสำรวจความคิดเห็นชาวอังกฤษโดยโพลล์ คอมเรส เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนเพียง 33% ที่จะโหวตให้ประเทศถอนตัวจากอียู ซึ่งลดลงจาก 37% ในเดือนตุลาคม 2554 ส่วนผู้ที่จะโหวตคัดค้านการถอนตัวมีอยู่สูงถึง 42% จากเดิม 37% ขณะที่อีก 25% ยังไม่ตัดสินใจ
ขณะที่โพลล์ของ YouGov Plc ที่มีการตีพิมพ์ในนสพ.ซันเดย์ ไทมส์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาระบุว่า ประชาชน 40% ต้องการที่จะอยู่ในกลุ่มอียูต่อไป ขณะที่อีก 34% ต้องการให้อังกฤษถอนตัวออกจากกลุ่ม โดย YouGov Plc ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนเมื่อวันที่ 17-18 ม.ค.
เซอร์มาร์ติน ซอร์เรล ประธานบริหารของ WPP Group ซึ่งเป็นบริษัทโฆษณา มองว่า เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เดวิด คาเมรอน ทำด้วยเหตุผลทางการเมือง มีหลายสิ่งที่เราไม่ชอบในอียู ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการทำงานที่เป็นแบบข้าราชการมากจนเกินไป กฎเกณฑ์และการกำกับดูแลที่น่าขัน รวมทั้งสิ่งที่เราเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว เราต้องการเงื่อนไขที่ดีที่สุด แต่ผมอยากให้เราหารือกันภายในกลุ่ม มากกว่าที่จะออกไปนอกกลุ่มแล้วเข้ามาหารือ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทหลายแห่งมองว่าไม่มีความแน่นอน ก่อให้เกิดความคลางแคลงใจว่า เพราะเหตุใดบริษัทของตนเองจะต้องย้ายโรงงาน สำนักงานการเงิน และสำนักงานใหญ่ ซึ่งในมุมมองของทางธุรกิจและจังหวะเวลาแล้ว เรียกได้ว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้
เซอร์มาร์ตินกล่าวได้อย่างน่าสนใจว่า การเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ดีขึ้นจากอียูนั้น ควรจะมาจากการเจรจากันอย่างเงียบๆกันเองมากกว่าที่จะแสดงออกผ่านทางจุดยืนที่แข็งกร้าว
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าผู้บริหารทุกรายจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดในการแยกตัวออกจากอียู ลุค จอห์นสัน ประธานของ Risk Capital Partners ซึ่งเป็นกลุ่มไพรเวท อิควิตี้ มองว่า นักการเมืองของอังกฤษไม่สามารถควบคุมภาระที่ดาหน้าเข้ามาด้วยตนเองได้ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่เราจะต้องควบคุมชะตาของธุรกิจและเศรษฐกิจของเราเอง หากเราต้องการที่จะแข่งขันกับทั่วโลก
อียูไม่ได้ทำหน้าที่ในแบบที่เคยเป็นมา ในแง่ของส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจโดยรวม ในขณะที่อเมริกาใต้ และเอเชีย ได้มีบทบาทมากขึ้นในการผลักดันเศรษฐกิจโลก
นิกกี คิง กรรมการผู้จัดการอีซูซุ ทรัค ยูเค กล่าวเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า การอยู่ในกลุ่มอียูก็เหมือนกับเรากำลังตั้งครรภ์ เราไม่สามารถตั้งครรภ์แบบครึ่งๆกลางๆได้ จริงอยู่ว่ากฎหมายของกลุ่มที่มีผลต่อเรานั้นเป็นเรื่องน่าปวดหัว แต่เราเองก็ต้องการให้ยุโรปช่วยให้การค้าของเราอยู่รอดได้ หากเรายังรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมโยงด้านการค้า แต่ไม่ต้องอยู่ภายใต้ระบบการทำงานแบบข้าราชการ คงจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี
ภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับอนาคตของประเทศ เพื่อปูทางให้ชาวอังกฤษได้ตัดสินใจว่าจะอยู่หรือจะไปจากอียูแล้ว คงจะต้องจับตากันต่อไปกับผลการตัดสินใจของชาวอังกฤษ ซึ่งอย่างเร็วที่สุดคาดว่าการลงประชามติจะจัดขึ้นได้ในช่วงสิ้นปี 2560