ทั้งนี้ มองว่าการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนามีการเติบโตไม่สูงเท่าที่ผ่านมา คาดว่าปีนี้เติบโตอยู่ที่ 5.5% จากในอดีตที่ผ่านมาเติบโตอยู่ที่ 7-8% แต่ก็ยังสามารถรักษาระดับการเติบโตไว้ได้ และการเติบโตก็เป็นไปอย่างมั่นคง ซึ่งประเทศที่กำลังพัฒนาควรจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น เพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรให้มากขึ้น และสร้างกันชนไว้ในยามฉุกเฉิน โดยการรักษากรอบวินัยทางการคลังที่แข่งแกร็ง มีเงินสำรองไว้ใช้ในยามเกิดวิกฤตรุนแรงขึ้น
นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาตร์อาวุโส ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวในอัตรา 5% ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์การขยายตัวของปี 55 ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.7% เนื่องจากปี 55 การส่งออกของประเทศไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมาจากวิกฤตยูโรโซน ส่งผลกระทบต่อดีมานด์ในตลาดโลก อีกทั้งภาคการผลิตในประเทศยังไม่สามารถผลิตได้อย่างเต็มที่ หลังผ่านช่วงน้ำท่วมหนักในปี 54
ส่วนปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตในประเทศ หลังจากวิกฤตอุทกภัยในประเทศเมื่อปลายปี 54 ซึ่งปีนี้ภาคการผลิตเริ่มมีการผลิตได้อย่างเต็มที่กว่าปีที่แล้ว และยังมีปริมาณเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก นักลงทุนต่างชาติหันมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกลดต่ำลง
ด้านการส่งออกนั้นในปี 56 จะขยายตัวดีขึ้นกว่าปี 55 แต่คงไม่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยน่าจะขยายตัวราว 5.5% จากปี 55 ขยายตัว 3.6% ส่วนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะเป็นการสนับสนุนให้การลงทุนของภาครัฐขยายตัวสูงถึง 15% ซึ่งเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัวตามไปด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงหลายด้าน จากการประเมินของธนาคารโลกที่ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะมีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยจะขยายตัวอยู่ที่ 2.4% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และมีผลทำให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง โดยคาดว่าราคายางในปีนี้อยู่ที่ 3.30 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลกรัม ลดลงจาก 3.38 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลกรัมในปี 55
ขณะที่ราคาข้าวคาดว่าอยู่ที่ 540 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ลดลงจากปี 55 อยู่ที่ 563 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน โดยแนวโน้มของราคาข้าวจะลดลงประมาณปีละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ-ตัน ซึ่งในปี 57 จะลดลงมาอยู่ที่ 520 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ซึ่งมาจากผลของนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล ที่มีการเก็บสต๊อกข้าวไว้มาก ทำให้ราคาข้าวลดลง อีกทั้งยังจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% เป็นการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็วเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายปรับตัวไม่ทัน ซึ่งถ้าจะให้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการน้อยที่สุดรัฐบาลควรทยอยปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งตัวได้ทัน และยังมีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายของภาครัฐในโครงการบริหารจัดการน้ำ มูลค่า 60,000 ล้านบาท อาจมีความล่าช้ากว่ากำหนด และสุดท้ายเป็นปัจจัยเสี่ยงความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ แต่ปีนี้คาดว่าบรรยากาศคงไม่ต่างจากปีที่แล้ว
ด้านหนี้สาธารณะของไทยที่อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของจีดีพี มองว่าไม่ส่งผลกระทบค่อฐานะทางการคลังของประเทศมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้มากกว่า 4-4.5% แต่มีความเป็นห่วงเรื่องของหนี้ที่ผูกพันของรัฐที่แฝงเข้ามาในธนาคารของรัฐ ซึ่งแนะนำให้ภาครัฐลดการกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้น เพื่อที่จะเก็บเงินสำรองเพื่อเป็นกันชนไว้ในยามที่ประเทศเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น
นางสาวกิริฎา ยังกล่าวถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ว่าน่าจะส่งผลดีต่อการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ถูกลง ทำให้ต้นทุนก็ต่ำลง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นโอกาสในการนำเข้าเครื่องจักรมาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมองว่าการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้นไม่ได้เป็นการโจมตีค่าเงิน แต่มาจากการที่เงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามามากในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย โดยเงินทุนที่ไหลเข้ามาเป็นการลงทุนในตลาดพันธบัตรระยะสั้นและในตลาดหุ้น และน่าจะเป็นเงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้น ภาคเอกชนควรเพิ่มความระมัดระวัง
ส่วนแนวโน้มของค่าเงินบาทนั้นมีแนวโน้มแข้งค่าขึ้นอยู่แล้วมาตลอดระเวลาหลายปี หากเงินต่างชาติยังไหลเข้ามาอีกเรื่อยๆ แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อ ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกอย่างมาก ต้องระวังความผันผวนของค่าเงินและบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดี ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการส่งออกได้มีการทำประกันความเสี่ยงไว้บ้างแล้ว
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมสาสตร์ กล่าวว่า การเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียวยังไม่ใช่ทางออกที่จะสร้างความยั่งยืนและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยอยากให้คำนึงถึงการสร้างมูลค่าที่ได้กลับมาอย่างชัดเจนและเพียงพอ การปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น การแก้ปัญหาคอรัปชั่น การปรับโครงสร้างแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแก้ปัญหาความเท่าเทียม เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยหลุดจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้