ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ คาดส่งออกปี 56 โต 10-15% แต่ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 24, 2013 10:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้มการส่งออกของไทยปี 56 สามารถขยายตัวได้ในกรอบคาดการณ์ร้อยละ 10.0-15.0 (ค่ากลางที่ร้อยละ 12.5) โดยน่าจะเริ่มเห็นภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่ผลิกผันไปในทิศทางที่ย่ำแย่ลง ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจจีนและเอเชียยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็น่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นด้วยมาตรการกระตุ้นที่มีวงเงินจำนวนมหาศาล รวมทั้งการขยายการค้าไปสู่ตลาดศักยภาพยังคงเป็นไปได้อย่างราบรื่น เมื่อรวมกับทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งน่าจะได้รับอานิสงส์จากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น และคาดว่าจะกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556

สำหรับผลกระทบจากต้นทุนส่วนเพิ่มและเงินบาทแข็งค่าต่อภาวะการส่งออกสินค้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แต่ละชนิดจะมีความรุนแรงแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ สัดส่วนการใช้ต้นทุนการผลิตที่มีการปรับขึ้นราคา สัดส่วนการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทิศทางอุปสงค์อุปทานในตลาดโลก รวมทั้งสถานะความสามารถในการแข่งขันในปัจจุบัน ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบที่อาจมีต่อสินค้าส่งออก 50 อันดับแรกของไทย พบว่า ในขณะที่สินค้าส่งออกกลุ่มหนึ่งอาจได้รับผลกระทบในระดับรุนแรงเนื่องจากประสบปัญหาการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอยู่ก่อนแล้ว ก็ยังมีสินค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะสามารถประคองตัวผ่านไปได้อย่างดีท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวในปี 2556

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลุ่มสินค้าดาวรุ่งที่น่าจะเติบโตได้ดีในปี 2556 ตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและการขยายกำลังการผลิตเพื่อการส่งออก ขณะที่ผลกระทบจากต้นทุนการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้นอาจถูกชดเชยด้วยต้นทุนการนำเข้าวัตถุขั้นกลางที่ลดลงจากอานิสงส์ของเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ยังคงความสามารถในการแข่งขันด้านราคาไว้ได้ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เชื้อเพลิงสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง รวมทั้งเหล็กและผลิตภัณฑ์

ขณะที่ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังก็น่าจะได้รับประโยชน์จากอุปสงค์โลกที่เร่งตัวขึ้น ขณะเดียวกัน อุปทานในตลาดโลกที่ยังมีข้อจำกัด ก็น่าจะช่วยพยุงราคาและปริมาณส่งออกไม่ให้ไถลลงและดูดซับผลกระทบต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นไปได้บ้าง

ส่วนอาหารแปรรูปนั้น แม้ว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากต้นทุนการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้นและเงินบาทที่แข็งค่า แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังคงเป็นสินค้าที่มีโอกาสเติบโตได้จากหลายปัจจัยหนุน อาทิ จุดเด่นด้านคุณภาพที่เหนือกว่าคู่แข่ง และแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นได้จากตลาดเอเชีย เช่นเดียวกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ที่แม้ว่าภาพของการส่งออกจะยังไม่ปรากฎสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากนัก แต่ก็น่าจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนการนำเข้าที่ต่ำลงตามการแข็งค่าของเงินบาท และช่วยให้ยังสามารถแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากตัวแปรดังกล่าวที่อาจมีผลต่อการภาวะการส่งออกสินค้าของไทยแล้ว ความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกรณีข้อพิพาทหมู่เกาะระหว่างชาติจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านอำนาจมาสู่ผู้นำที่มีแนวนโยบายต่างประเทศที่ไม่ผ่อนปรน ก็อาจจะทำให้โอกาสในการเผชิญหน้าระหว่างประเทศดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ แม้ความตึงเครียดดังกล่าวอาจไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทย แต่คงต้องคำนึงถึงผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นหากความขัดแย้งทวีความรุนจนมีผลกระทบต่อภาพรวมการค้าในภูมิภาค ก็คงจะทำให้ไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกหลักในเอเชียยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าวได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ