สศก.เผยผลศึกษาปลูกพืชแซมปาล์มน้ำมันช่วยเพิ่มรายได้-ลดภาระลงทุนให้เกษตรกร

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 24, 2013 10:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาการลงทุนปลูกพืชแซมปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมในช่วงก่อนให้ผลผลิตในพื้นที่สวนส้มร้างทุ่งรังสิต ว่า ปัจจุบันทุ่งรังสิต มีพื้นที่ปลูกปาล์มแล้วประมาณ 12,000 ไร่ โดยการปลูกยังคงร่องสวนเดิมไว้และจากการที่พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตชลประทานรวมทั้งอยู่ใกล้ตลาดกลางและผลไม้ จึงส่งผลให้ในระยะแรกของการปลูกปาล์มน้ำมัน (ก่อนปาล์มให้ผลผลิต) เกษตรกรมีการปลูกพืชแซมร่วมด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ในช่วงที่ปาล์มน้ำมันยังไม่ให้ผลผลิตและช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งรังสิตที่ประสบปัญหาเรื่องหนี้สินให้มีแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

จากการศึกษาเรื่องดังกล่าว พบว่า รูปแบบการปลูกพืชแซมปาล์มน้ำมันที่นิยมปลูกในพื้นที่สวนส้มร้างทุ่งรังสิต มีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ 1) การปลูกตะไคร้แซมปาล์มน้ำมัน 2) การปลูกกล้วยหอมแซมปาล์มน้ำมัน และ 3) การปลูกกล้วยน้ำว้าแซมปาล์มน้ำมัน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ พบว่า การปลูกปาล์มน้ำมันมีต้นทุนก่อนให้ผลผลิตเฉลี่ย (ตลอดช่วงอายุ) เท่ากับ 1,073บาท/ไร่/ปี

ส่วนต้นทุนในการปลูกพืชแซมทั้ง 3 รูปแบบ พบว่า การปลูกตะไคร้แซมปาล์มน้ำมัน มีต้นทุนเฉลี่ยเท่ากับ 1,907 บาท/ไร่/ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 11,356 บาท/ไร่/ปี ส่วนการปลูกกล้วยหอมแซมปาล์มน้ำมัน มีต้นทุนเฉลี่ยเท่ากับ 4,903 บาท/ไร่/ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 14,280 บาท/ไร่/ปี และการปลูกกล้วยน้ำว้าแซมปาล์มน้ำมัน มีต้นทุนเฉลี่ยเท่ากับ 1,669 บาท/ไร่/ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7,064 บาท/ไร่/ปี

นอกจากนี้ พบว่า รูปแบบของการปลูกพืชแซมปาล์มน้ำมันในช่วงก่อนให้ผลผลิตในพื้นที่สวนส้มร้างทุ่งรังสิตที่เหมาะสมหรือให้ผลตอบแทนสุทธิสูงสุด ได้แก่ การปลูกตะไคร้แซมปาล์มน้ำมัน โดยมีผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 8,375 บาท/ไร่/ปี รองลงมา ได้แก่ การปลูกกล้วยหอมแซมปาล์มน้ำมัน ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 8,302 บาท/ไร่/ปี และ การปลูกกล้วยน้ำว้าแซมปาล์มน้ำมัน ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 4,321 บาท/ไร่/ปี ตามลำดับ

ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าปลูกพืชแซมปาล์มน้ำมันเป็นการเพิ่มรายได้และช่วยลดภาระในการลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกร โดยเฉพาะในช่วงที่ปาล์มน้ำมันยังไม่ให้ผลผลิต

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยในเรื่องของระบบน้ำและการเลือกช่วงเวลาในการปลูกพืชแซมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมีตลาดรองรับ นับว่ามีความสำคัญที่จะส่งผลโดยตรงต่อผลตอบแทนที่จะได้รับเลขาธิการ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ