นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังมีแผนพัฒนาศูนย์การค้ายางพาราระดับโลกที่เมืองชิงเต่าด้วย จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะขยายฐานการส่งออกยางพารา เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความต้องการยางพาราเพื่อการอุตสาหกรรมประมาณ 3.6 ล้านตันต่อปี โดยต้องนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 2.1 ล้านตันต่อปี ซึ่งที่ผ่านมามีการนำเข้าจากประเทศไทยถึงร้อยละ 60 ทั้งนี้ แม้ว่าเมืองชิงเต่าจะมีอุตสาหกรรมหลักคือการผลิตยางรถยนต์ แต่ไม่สามารถปลูกยางพาราเองได้ ต้องนำเข้ายางจากต่างประเทศเท่านั้น นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมืองชิงเต่ายังมีความประสงค์ทำการค้ายางธรรมชาติกับไทย ซึ่งมีปริมาณการผลิตมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยการที่เมืองชิงเต่ามีท่าเรือน้ำลึก และมีท่าเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก จะช่วยให้การส่งน้ำยางธรรมชาติจากไทยไปเมืองชิงเต่าสามารถทำได้โดยสะดวก
นอกจากนี้ เมืองชิงเต่ายินดีสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับบุคลากรจากไทย ให้ไปเรียนรู้ยังมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของเมืองชิงเต่าในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพารา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ รวมทั้งมีความยินดีที่จะเชิญผู้บริหารจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางเยือนเมืองชิงเต่าเพื่อหาแนวทางในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือ และส่งเสริมด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านยางพารา อีกทั้งในอนาคตจะมีการเปิดสถานกงสุลไทยประจำเมืองชิงเต่า ซึ่งการเปิดสถานกงสุลไทยดังกล่าวจะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการค้าและการพัฒนาการท่องเที่ยว
อนึ่ง เมืองชิงเต่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีประชากรประมาณ 8.5 ล้านคน เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญทางเหนือของจีน มีการคมนาคมที่สะดวก และมีท่าเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก สินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ สินค้าอิเล็คทรอนิคส์ และรถยนต์ อาทิ รถกระบะ รถพ่วง และรถสำหรับการเกษตร มีอัตราการผลิตรถยนต์ปีละประมาณ 8 แสนคัน