BOI ระดมความเห็นนลท.ภาคตะวันออกจัดทำยุทธศาสตร์ใหม่ก่อนเสนอบอร์ดพิจารณา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 24, 2013 14:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังกล่าวเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่: เพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน" ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอ ได้จัดรับฟังความเห็นจากนักลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออก ก่อนจะรวบรวมไปวิเคราะห์ใช้ในการจัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน และนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังเป็นประธาน

สำหรับการลงทุนในภาคตะวันออกมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2551 — 2555) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการส่งเสริมการลงทุนในภาคตะวันออกรวม 2,761 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 1,370,000 ล้านบาท

“ในปี 2555 ที่ผ่านมา บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นจำนวน 768 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 357,197 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วน เครื่องจักร โลหะ ปิโตรเคมี กระดาษและพลาสติก และอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นกลุ่มที่บีโอไอยังให้ความสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่"นายประเสริฐ กล่าว

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวย้ำถึงยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ว่า จะเน้นการจูงใจหรือกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนา การรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม และลงทุนในลักษณะคลัสเตอร์อุตสาหกรรม โดยหากผู้ลงทุนมีการลงทุนเพิ่มเติมในกิจการเหล่านี้ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม ซึ่งจะทำให้ได้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับสิทธิประโยชน์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

"การปรับนโยบายครั้งนี้มิได้เป็นการลดสิทธิประโยชน์ แต่เป็นการปรับทิศทางการส่งเสริมให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ทิศทางการพัฒนาของประเทศที่มุ่งสู่เศรษฐกิจฐานความรู้มากยิ่งขึ้น" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิ บีโอไอ กล่าวว่า เป้าหมายของยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ คือการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การยกระดับห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรม การลดภาระทางการคลังด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ ด้านภาษีอากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มบทบาทใหม่ของบีโอไอเพื่อให้สามารถบริการและอำนวยความสะดวกที่ดีขึ้นทั้งก่อนและหลังการลงทุน ทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ภายใต้ร่างยุทธศาสตร์ใหม่ บีโอไอมีแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ให้ส่งเสริมเกือบทุกกิจการมาเป็นส่งเสริมแบบมีเป้าหมายชัดเจน เน้น 10 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ 1. กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ (เขตอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ น้ำประปาหรือน้ำเพื่ออุตสาหกรรม การขนส่งมวลชนและขนส่งสินค้า สนามบินพาณิชย์ ศูนย์บริการโลจิสติกส์) 2. กลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐาน (เหล็ก ปิโตรเคมี เยื่อกระดาษหรือกระดาษ เครื่องจักร) 3. กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ (เครื่องมือแพทย์ ยา อาหารทางการแพทย์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์)

4. กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและบริการด้านสิ่งแวดล้อม (เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กิจการรีไซเคิล บริการบำบัดน้ำเสียและกำจัดกากอุตสาหกรรม บริการด้านจัดการพลังงาน) 5. กลุ่มธุรกิจบริการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม (เช่น R&D, HRD, Engineering Design, Software, บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ บริการสอบเทียบมาตรฐาน กิจการ ROH กิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน) 6. กลุ่มเทคโนโลยีพื้นฐานขั้นสูง (เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง)

7. อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปสินค้าเกษตร (อาหารแปรรูป วัตถุเจือปนอาหาร สารสกัดจากสมุนไพร การปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืช ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ เชื้อเพลิง) 8. อุตสาหกรรม Hospitality & Wellness (กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยวและกีฬา การสร้างภาพยนตร์ไทย ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ศูนย์สวัสดิการผู้สูงอายุ) 9. อุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง (รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถไฟ รถไฟฟ้า อากาศยาน ต่อเรือหรือซ่อมเรือ) 10. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (Electronic Design, Organics & Printed Electronics, HDD & SDD และชิ้นส่วน, เซลล์แสงอาทิตย์, White Goods)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ