ทั้งนี้ ภาคเอกชนมองว่าการจัดทำความตกลง FTA ไทย-ยุโรปได้ภายในเวลาอันรวดเร็วจะสามารถทดแทนการที่ประเทศไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลาการ(GSP)เป็นการถาวรจากสหภาพยุโรปในปี 58 ได้ เพราะสินค้าไทยที่คาดว่าจะถูกตัดสิทธิ GSP ประเมินแล้วอาจได้รับผลกระทบเป็นมูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาท เช่น สินค้าในกลุ่มกุ้งสดแช่เย็น เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ รองเท้า อาหารสำเร็จรุป และยางรถยนต์ เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ภาคเอกชนยังเห็นว่า รัฐบาลควรศึกษาผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมของการยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่าความตกลงด้านทรัพยสินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก(TRIPs PLus) โดยให้เวลาภาคเอกชนปรับตัวพร้อมกับมีมาตรการเยียวยาในทุกประเด็นที่เกิดผลกระทบจากการเจรจา โดยเฉพาะประเด็นการหาทางออกร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และ NGO ในข้อกังวลที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพยสินทางปัญญาในกลุ่มของยารักษาโรค เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการคุ้มครองพันธุ์พืช
อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นเดือนมี.ค.นี้ ทางกกร. และสภาธุรกิจไทย-สหภาพยุโรป จะจัดงานสัมมนาเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการเปิดเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งจะได้นำมารวบรวมเพื่อประกอบให้การเจรจาในครั้งนี้เกิดประโยชน์มากที่สุด
นายชาญศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สหภาพยุโรปเป็นทั้งตลาดใหญ่และมีนักลงทุนรายใหญ่ของโลก สัดส่วนการลงทุนเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการลงทุนสะสมทั่วโลก ถ้าหากประเทศไทยไม่จัดทำความตกลงดังกล่าวจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยไม่สามารถรักษาระดับการแข่งขันทางการค้ากับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่จัดทำข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรปไปแล้วก่อนหน้านี้ได้ อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนไปในประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่ได้เริ่มมีการเจรจาความตกลงดังกล่าวกับสหภาพยุโรปแล้ว ซึ่งสหภาพยุโรปเองมีนโยบายที่จะเปิดการค้าเสรีกับประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นแบบรายประเทศ ไม่ใช่แบบกลุ่มประเทศ
"การเจรจา(เปิดเสรีไทย-สหภาพยุโรป) มีความจำเป็น เพราะในอีก 2 ปี GSP ก็จะหมดอายุแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านของเราทั้งสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า ได้มีการเจรจากับ EU ไว้แล้ว เราจึงจำเป็นต้องทำ...ขณะนี้ กกร.พยายามรวบรวมข้อมูลจากภาคธุรกิจในทุกๆ ด้านรวมทั้งข้อห่วงใยต่างๆ เสนอต่อรัฐบาล ถ้าทำช้า พอเปิด AEC แล้วจะเป็นจุดอ่อนต่อเศรษฐกิจไทย" นายชาญศักดิ์ กล่าว
นายชาญศักดิ์ ยังกล่าวถึงผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปสหภาพยุโรปจากปัญหาเงินบาทแข็งค่าขึ้นว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นมีทั้งผลบวกและผลลบ ซึ่งผลในแง่บวกจะช่วยทำให้การนำเข้าวัตถุดิบ ตลอดจนสินค้าทุน และพลังงานมีราคาถูกลง แต่ยอมรับว่าการส่งออกในปีนี้คงได้รับผลจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอยู่บ้าง ซึ่งการส่งออกสินค้าไทยไปสหภาพยุโรปปีนี้คงลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน โดยอาจจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดเหลือ 17-18% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม จากปีก่อนซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 20%
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าผู้ส่งออกรายใหญ่ได้มีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้อยู่แล้ว ขณะที่ผู้ส่งออกรายกลางและรายเล็กก็ได้เริ่มเข้ามาใช้วิธีการบริหารความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะดูแลในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยมองว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการเสริม
"มาร์เก็ตแชร์คงตกลงจาก 20% มาเหลือ 17-18% ตอนนี้ตลาดที่ขึ้นมาแทน คือ อาเซียน, จีน...ผลกระทบจากบาทแข็งนั้น ตอนนี้ก็ยังพอไปได้ พวกรายใหญ่มีวิธีบริหารความเสี่ยงอยู่แล้ว ส่วน SMEs ก็เริ่มมีการบริหารความเสี่ยงด้วยเช่นกัน" นายชาญศักดิ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่การส่งออกโดยรวมของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 8-9% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายไว้ เพราะมีตลาดส่งออกใหม่ๆ เกิดขึ้นทดแทนตลาดหลักที่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป โดยเชื่อว่าผู้ส่งออกไทยมีความสามารถในด้านการหาตลาดใหม่อยู่แล้ว
อนึ่ง คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-สหภาพยุโรป(FTA ไทย-อียู) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.55 และคาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 เพื่อให้ความเห็นชอบภายในเดือนนี้
โดยกรอบการเจรจา FTA ไทย-อียู จะครอบคลุม 17 ประเด็น ประกอบด้วย การค้าสินค้า, พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า, กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า, มาตรการเยียวยาทางการค้า, มาตรการปกป้องด้านดุลการชำระเงิน, มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช, อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า, การค้าบริการ, การลงทุน, การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ, ทรัพย์สินทางปัญญา, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ, ความโปร่งใส, การแข่งขันการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน, ความร่วมมือ และอื่นๆ