ขณะเดียวกันในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนอกเหนือจากอนุมัติไปตามปกติแล้ว ผู้ที่เข้ามาใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องมีหน้าที่ในการฟื้นฟูและจ่ายทดแทนบนสมมุติฐานว่าแผ่นดินนี้เป็นของประชาชนทุกคน ดังนั้นจะต้องมีการดูแลและแสดงความขอบคุณต่อเจ้าของประเทศ เช่น โครงการเหมืองแร่ ต่อไปนี้ต้องปลูกป่าทดแทน 25 เท่าของพื้นที่ที่ใช้และในระหว่างที่ดำเนินการหากพบว่าทำให้สิ่งแวดล้อมและประชาชนได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง จะมีการยกเลิกสัมปทานนั้นทันที
ส่วนโครงการที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว ที่ประชุมฯ ได้มีข้อกำหนดให้มีการประเมินติดตามอย่างละเอียดต่อเนื่องตลอดเวลา โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) รวมทั้งเจ้าของโครงการ จะต้องมีหน่วยงานในการประเมินติดตามตลอดเวลา โดยรายงานผ่านว็บไชต์ซึ่งจะได้มีการจัดทำขึ้นในการดำเนินการดังกล่าว เพื่อรายงานให้คณะกรรมการฯ รับทราบอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในการอนุมัติทุกโครงการ เจ้าของโครงการ/กิจการจะต้องมาชี้แจงด้วยตนเองทุกครั้ง
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่า จะมีการนำเรื่องภัยแล้งเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันศุกร์ที่ 25 ม.ค.นี้