ผู้ส่งออกห่วงปัญหาเงินบาทแข็งค่า,แนะ ธปท.ดูแลใกล้ชิดไม่ให้ผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 24, 2013 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผู้ประกอบการส่งออกเป็นห่วงผลกระทบจากปัญหาเงินบาทแข็งค่ามากสุด เพราะทำให้ศักยภาพในการแข่งขันด้านราคาลดลง พร้อมเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าไปดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพอีก 1-2 เดือนจะช่วยลดผลกระทบให้น้อยลง

"ตอนนี้ผู้ประกอบการเป็นห่วงเงินบาทแข็งค่ามาก และต้องการให้รัฐบาลดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป และไม่ให้แข็งค่าเกินกว่าค่าเงินของประเทศคู่แข่ง เพราะจะทำให้การแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยลดลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตร" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าว

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยปีนี้ขยายตัวได้เพียง 6-8% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์คาดโต 8-9% นอกจากนี้รัฐบาลต้องสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศ สกัดการเก็งกำไรค่าเงิน และสนับสนุนการลดต้นทุนด้านการส่งออก

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1-22 ม.ค.56 เงินบาทปรับตัวแข็งค่าแล้ว 3% โดยแข็งค่ากว่าเงินในสกุลอื่นในเอเชีย และเงินสกุลสำคัญในโลก ซึ่งผู้ประกอบการถึง 42.5% ระบุส่งผลกระทบต่อธุรกิจของตนเองมาก ส่วนอีก 39.1% ระบุกระทบปานกลาง อีก 18.3% ระบุกระทบน้อย มีเพียง 0.1% ที่ระบุไม่กระทบ

สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุดคือ กลุ่มส่งออก รองลงมาคือ กลุ่มส่งออก-นำเข้า, กลุ่มส่งออก-ขายสินค้าในประเทศ, กลุ่มนำเข้า-ส่งออก และขายในประเทศ ขณะที่กลุ่มนำเข้าจะได้ประโยชน์มากที่สุด ตามด้วยกลุ่มนำเข้า-ขายในประเทศ โดยน่าจะทำให้ยอดส่งออกสินค้าลดลง 8.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนยอดการนำเข้าเพิ่มขึ้น 10.2% ต้นทุนการส่งสินค้า เพิ่มขึ้น 15.4% ต้นทุนการผลิตสินค้า เพิ่มขึ้น 11.8% ยอดรับคำสั่งซื้อ เพิ่มขึ้น 2.1% สินค้าคงคลัง เพิ่มขึ้น 5.6%

"หากเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 29.00-29.50 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผลกระทบในด้านต่างๆ จะรุนแรงมากขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

ผู้ประกอบการระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจควรอยู่ที่ 31 บาท/เหรียญสหรัฐฯ แต่ระดับที่ยังไม่ส่งผลต่อการส่งออกอยู่ที่ 30.20 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่อัตราที่ผู้ประกอบการยังรับได้ขณะนี้อยู่ที่ 29.40 บาท/เหรียญสหรัฐฯ แต่จะแบกรับได้นานเพียง 1 เดือนครึ่งเท่านั้น และขณะนี้พอใจการดูแลค่าเงินบาทของ ธปท.น้อยมาก

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการทั่วประเทศ 400 ตัวอย่าง เกี่ยวกับค่าเงินบาทแข็งค่า ระหว่างวันที่ 18-22 ม.ค.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ