ม.หอการค้าฯเผยขึ้นค่าแรงส่งผลนายจ้างลดสวัสดิการ/ด้านลูกจ้างต้องการให้ปรับขึ้นอีก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 24, 2013 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการต่อการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท : นอกพื้นที่ 7 จังหวัดนำร่อง โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 600 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-17 ม.ค.56 พบว่า ส่วนใหญ่ได้รับการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาทแล้วแต่ปรับลดสวัสดิการ บางรายให้เงินสดเต็มจำนวน โดยไม่รวมสวัสดิการ, ให้เงินสดเต็มจำนวนแต่ไม่มีสวัสดิการอื่น, ให้เงินน้อยกว่าค่าแรง และให้เงินสดเต็มจำนวนแต่ให้ทำงานมากกว่าเดิม

ทั้งนี้ การขึ้นค่าแรงดังกล่าวพบว่า ผู้ตอบมากถึง 30.7% ระบุทำให้ต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นถึง 7-9% ส่วน 27.6% ระบุเพิ่มมากกว่า 9% อีก 21% ระบุเพิ่มขึ้น 4-6% และ 20.7% ระบุเพิ่ม 1-3% เมื่อแยกเป็นประเภทธุรกิจ พบว่า ธุรกิจขนาดเล็ก ต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 9% ส่วนขนาดกลาง ต้นทุนเพิ่ม 7-9% และขนาดใหญ่ ต้นทุนเพิ่มเพียง 1-3%

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปรับขึ้นค่าแรง ภาคธุรกิจได้ปรับตัวในด้านต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไป โดยสิ่งที่ทำเป็นอันดับแรกคือ ขึ้นราคาสินค้า รองลงมาคือ ลดจำนวนแรงงานลง หาเครื่องจักรทดแทน ลดสวัสดิการ และจ้างแรงงานต่างด้าวแทน

เมื่อถามถึงในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ประกอบการสามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้มากเพียงใด ส่วนใหญ่ระบุปานกลาง และแบกรับได้นานเพียง 7 เดือน ขณะที่เมื่อถามว่า มาตรการที่รัฐออกมาช่วยเหลือนั้น คิดว่าเป็นประโยชน์และได้รับประโยชน์หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ตอบเป็นประโยชน์ และได้รับประโยชน์ในระดับปานกลาง โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ อันดับ 1 คือ ลดภาษี รองลงมาคือ หาแหล่งเงินทุน จัดอบรมฝีมือแรงงาน ลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการส่งออก และชดเชยแรงงานขั้นต่ำ

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อถึงการสำรวจความคิดเห็นแรงงานที่ได้รับค่าจ้าง 300 บาท จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,200 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 15-17 ม.ค.56 ว่า ต้องการให้ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นไปอีก 164.3 บาทมาอยู่ที่วันละ 464.3 บาท และต้องการให้ปรับขึ้นทุกปี

ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่าค่าแรง 300 บาททำให้แรงงานเป็นหนี้สินน้อยลง แต่ในด้านอื่นๆ ก็น้อยลงด้วยเช่นกัน เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น โดยสินค้าที่จะซื้อมากที่สุดคือ โทรศัพท์, เสื้อผ้า, รถจักรยานยนต์, สินค้าอุปโภคบริโภค, เครื่องใช้ไฟฟ้า, สินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าคงทน

เมื่อถามว่าปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทแล้ว จะทำให้ผู้ประกอบการใช้แรงงานต่างด้าวหรือไม่ ผู้ตอบ 49% ระบุว่าใช้ และอีก 51% ระบุว่าไม่ใช้ อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่ถึง 59.5% ระบุว่า มีโอกาสตกงาน เพราะผู้ประกอบการแบกรับภาระไม่ไหวต้องเลิกจ้าง หรือมีจ้างแรงงานต่างด้าวแทน นอกจากนี้ยังลดจำนวนพนักงาน, ใช้เครื่องจักรแทน, ให้แรงงานทำงานหนักกว่าเดิม หรือปิดโรงงาน เป็นต้น

"ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพราะแรงงานเอาเงินไปจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าตั้งแต่ขึ้นค่าแรงเดือนเม.ย.55-ม.ค.56 จะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 150,000-170,000 ล้านบาท มีส่วนทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ 1-1.4% ส่วนในปีนี้ที่ค่าแรงปรับขึ้นจะมีเงินหมุนเวียนได้อีกกว่า 70,000 ล้านบาท และดันให้เศรษฐกิจโตได้ 0.4-0.5%" นายธนวรรธน์ ระบุ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลต้องเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและเล็กที่ไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการด้านภาษีที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือก่อนหน้านี้ เพราะไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล อีกทั้งยังต้องแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยผ่อนคลายการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นคาดว่าจะมีการปิดกิจการและมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ