เมื่อตั้งเป็นกรมฝนหลวงและการบินเกษตรที่จะมีฐานะเป็นนิติบุคคล ขึ้นตรงกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มภารกิจด้านบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิต ซึ่งประกอบด้วยกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ร่วมอยู่ในกลุ่มภารกิจเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะมีหน้าที่และความรับผิดชอบในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในบรรยากาศของประเทศโดยตรงแล้ว ยังเพิ่มบทบาทในการบูรณาการทั้งด้านการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และการดำเนินงาน ในด้านการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร การบริจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงและการดัดแปรสภาพอากาศต่างๆ และการให้บริการด้านการบินและการสื่อสารในการสนับสนุนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ภารกิจสำคัญๆที่จะเร่งรัดดำเนินการเมื่อเป็นกรมฝนหลวงแล้ว ประกอบด้วย 7 ส่วนหลักด้วยกัน คือ 1) การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาองค์กรกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ระยะเร่งด่วน และระยะ 5 ปี 2) การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคที่สมบูรณ์ให้ครบ 5 ศูนย์ (5 ภาค) เพื่อกระจายอำนาจการตัดสินใจ และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานระดับกลุ่มจังหวัด จังหวัด และระดับท้องถิ่น ในการให้บริการฝนหลวงที่แม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ 3) การเพิ่มจำนวนหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคให้เพียงพอและเหมาะสมกับจำนวนจังหวัดและพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาค 4) การเข้าร่วมกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน เชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการบริการจัดการทรัพยากรน้ำชองประเทศ การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และการให้บริการด้านการบินในภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
5) การลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาองค์กร บุคลากร และเทคโนโลยีกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 6) การเร่งรัดพัฒนาผลงานวิจัยในด้านเทคโนโลยีฝนหลวง การดัดแปรสภาพอากาศ และองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศของประเทศไทย 7) การแสดงบทบาทผู้นำทางด้านเทคโนโลยีฝนหลวงของประเทศไทย ในฐานะเป็นศูนย์กลางการดัดแปรสภาพอากาศแห่งอาเซี่ยน และการเป็นประเทศสมาชิกด้านการดัดแปรสภาพอากาศขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ซึ่งภารกิจต่างๆที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ จะมีผลสำคัญต่อการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำฝนหลวงให้บริการประชาชน และการร่วมขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนที่จำเป็นต้องดำเนินการของรัฐบาล
"การตั้งเป็นกรม ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคล ทำให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีเอกภาพในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนพัฒนาองค์กร การประสานงาน บูรณาการ และลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความรวดเร็วและคล่องตัวในการบริหารจัดการทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และเทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ นโยบายรัฐบาล นโยบายของกระทรวง สภาพแวดล้อม และความต้องการของผู้รับบริการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของภารกิจในการให้บริการฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนและอื่นๆตามที่กฎหมายกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ" นายยุคล กล่าว