เศรษฐกิจไทยในปี 56 แม้จะขยายตัวดีขึ้นจากปัญหาอุทกภัยในปี 54 แต่ยังไม่ถึงกับดีมากนัก เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ถึง 3% ซึ่งต่ำกว่าการขยายตัวในระดับปกติมาก แต่ยังได้รับอานิสงค์การเคลื่อนย้ายการลงทุนจากจีนมาภูมิภาคและไทย
ทั้งนี้ การบริหารเศรษฐกิจในปี 56 จึงต้องคำนึงถึงการสร้างความต่อเนื่องของการฟื้นตัวจากปี 55 และการบริหารโอกาสทางเศรษฐกิจจากปัจจัยภายนอกที่มีแนวโน้มดีขึ้นชัดเจน และปัจจัยทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะที่ในแง่เศรษฐกิจโลกนั้นยังต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่พ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ต้องดูว่าจะเริ่มกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้อีกเมื่อใด ส่วนเศรษฐกิจยุโรปยังอยู่ในจุดต่ำสุด และต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวอีกนาน ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังทรงตัวและมีความเสี่ยงที่ชัดเจนมากขึ้น
สำหรับปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม คือ ความเสี่ยงระยะสั้นจากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่ได้ตามที่คาดการณ์ไว้ จนทำให้หนี้สาธารณะของไทยพุ่งสูงขึ้น ส่วนความเสี่ยงระยะยาว คือยังไม่มีความชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยจะหลุดพ้นกับดักจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางหรือไม่ และการที่รัฐบาลยังไม่มีแผนการปรับระบบภาษีอย่างที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีพื้นที่ทางการคลังเพิ่มขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงหลายด้าน และควรพิจารณาปรับลดโครงการที่ใช้งบประมาณสูง เช่น โครงการรับจำนำข้าว ที่ประเมินว่าในปี 56 อาจจะขาดทุนสูงถึง 2 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะขาดทุน 1.5-1.7 แสนล้านบาท
นายสมชัย ประเมินแนวโน้มหนี้สาธารณะในปี 56-60 ว่า หนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการคลังไทยมีโครงสร้างแบบขาดดุลโดยพื้นฐาน โครงการพิเศษต่างๆ มีส่วนทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับภาระดอกเบี้ยทับถม ซึ่งทีดีอาร์ไอ มองว่าหากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่า 6% ต่อปี หนี้สาธารณะต่อ GDP จะเกิน 60% แต่การควบคุมรายได้ประจำจะมีผลช่วยควบคุมการเพิ่มของหนี้สาธารณะได้ค่อนข้างดี แต่ต้องอยู่บนสมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 4-6% ต่อเนื่องทุกปี
โดยแนวทางการบริหารหนี้สาธารณะ คือ การเพิ่มรายได้รัฐ จัดระบบภาษีเป็นลักษณะอัตราก้าวหน้า และตรงตามหลักความเสมอภาคทางภาษี เพิ่มฐานภาษีใหม่ๆ โดยเฉพาะฐานทรัพย์สิน วางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ควรใช้จ่ายเพื่อสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง บริหารหนี้สาธารณะอย่างโปร่งใส และการบริหารโอกาสการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับสูง และควรมีมาตราการอื่นๆ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เช่น พัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาเทคโนโยลียี
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) แสดงความเห็นถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันทั่วประเทศว่า เป็นนโยบายที่มีผลดีต่อแรงงานแม้จะเป็นการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดก่อให้เกิดผลกระทบต่อบางอุตสาหกรรม เช่น เครื่องนุ่งห่มที่มีสัดส่วนของการเพิ่มค่าแรงถึง 47.7% สิ่งทอสัดส่วนค่าแรงเพิ่มขึ้น 46.3% ดังนั้นในอนาคตรัฐบาลควรกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้กติกาที่ชัดเจน โดยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในทุกปีควรบวกอัตราการเพิ่มผลิตภาพในระยะกลางและอัตราเงินเฟ้อปีก่อนหน้า เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการปรับตัว
นอกจากนี้ ควรเพิ่มผลิตภาพการผลิตของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยระยะสั้น รัฐบาลควรเร่งรัดมาตรการเงินกู้หรือค้ำประกันเงินกู้ที่ออกมาแล้ว ส่งเสริมการฝึกทักษะแรงงานมากขึ้น โดยเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งในระยะกลาง-ระยะยาวควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาโดยเพิ่มเป้าหมายการลงทุน เร่งลดหย่อนทางภาษีในการกระตุ้นการลงทุนของเอกชน และปฎิรูปการศึกษา ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ และให้ผู้นำภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม
นายสมเกียรติ กล่าวถึงกรณีที่เงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกนั้น มองว่าไม่น่าเป็นกังวล เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้กำลังจะปรับโครงสร้างอย่างช้าๆ ที่จะลดการพึ่งพาการส่งออก ลดอุปสงค์ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในประเทศ การอุปโภค บริโภคต่างๆ และมองว่าหลายธุรกิจได้มีการซื้อประกันความเสี่ยงจากค่าเงินไว้แล้ว ซึ่งอาจจะไม่กระทบต่อภาคธุรกิจมากนัก
ทั้งนี้ การที่เงินบาทแข็งค่านั้นจะเป็นตัวช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น เนื่องจากมีการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ควรเปลี่ยนความคิดที่จะเข้าไปแทรกแซงค่าเงิน แต่ให้เน้นสร้างโอกาสจากภาวะค่าเงินแข็งมาพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ดี ควรต้องติดตามการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงระยะ 2-3 เดือนนี้ เพราะหากแข็งค่าขึ้นไปถึง 5% จะถือเป็นภาวะที่ต้องระวัง