โพลนักศศ.คาดเศรษฐกิจไทย 3-6 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้น ท่องเที่ยว-ลงทุนภาครัฐหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 28, 2013 09:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดผลสำรวจ เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า" พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 56.75 เพิ่มขึ้น 11.57 จุด และเป็นระดับที่สูงกว่า 50 เป็นครั้งแรกนับจากการสำรวจในเดือนมกราคม ปี 2555 ที่ผ่านมา

แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะแข็งแกร่งจากปี 2555 ที่เศรษฐกิจอยู่ในสถานะอ่อนแออย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยสถานะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งได้รับผลดีในหลายปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ส่วนปัจจัยการส่งออกสินค้าเป็นปัจจัยเดียวที่ยังอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 59.94 และเมื่อมองออกไปในอีก 6 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 63.82 หมายความว่า นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน โดยมีการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

ทั้งนี้ การที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 และ 6 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยที่สดใส

สำหรับประเด็นเศรษฐกิจใน 3-6 เดือนข้างหน้าที่นักเศรษฐศาสตร์เป็นห่วงมากที่สุด และอยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูแลเป็นพิเศษ มีดังนี้ 1. ประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทที่จะส่งผลให้ต้นทุนการประกอบการเพิ่มสูงขึ้น และกระทบกับธุรกิจ SMEs โดยตรงและอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานในอนาคตได้ (ร้อยละ 33.9)

2. การใช้จ่ายเงินในโครงการประชานิยมต่างๆ (โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว) อาจนำมาซึ่งปัญหาหนี้สาธารณะในอนาคต (ร้อยละ 19.6) 3. ปํญหาค่าเงินบาทผันผวนจนอาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก (ร้อยละ 10.7) 4. ปัญหาราคาสินค้า ค่าครองชีพ หรืออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น (ร้อยละ 10.7) 5. ปัญหาหนี้ส่วนบุคคลและหนี้ของครัวเรือนที่เริ่มเห็นสัญญาณของปัญหา (ร้อยละ 10.7) 6. ปัญหาอื่นๆ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การเบิกจ่ายงบประมาณ เศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมือง เป็นต้น

อนึ่ง ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 29 แห่ง จำนวน 60 คน โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 18—25 ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ