ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 4/55 (ครั้งที่ 1) การจ้างงานภาคเอกชน ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค การจ้างงานนอกภาคเกษตร และดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ ความรู้สึกของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจเยอรมนี ดัชนีราคาผู้บริโภคเยอรมนีและยูโรโซน รวมทั้งดัชนีภาคการผลิตจีน (Official PMI) ที่คาดว่าจะออกมาดีและจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น
ติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 29-30 ม.ค. 56 ว่าจะมีมุมมองต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE4) อย่างไร หลังผู้ร่วมประชุมหลายรายมองว่าควรจะยกเลิกมาตรการ QE4 ก่อนกำหนดในช่วงสิ้นปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น รวมถึงมุมมองต่อแผนการปรับเพิ่มเพดานหนี้ชั่วคราวระยะเวลา 3 เดือน ของสหรัฐฯ ที่จะช่วยให้สหรัฐฯ ไม่ต้องผิดนัดชำระหนี้และไม่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง
ตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 4/55 ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ได้แก่ บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ไฟเซอร์ วาเลโร เอนเนอยี โบว์อิ้ง และเมอร์ค คาดว่าจะออกมาดีและส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ บริเวณคุชชิ่งโอกลาโฮมา คาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดคาดว่ากำลังขนส่งของส่วนขยายของท่อขนส่งน้ำมัน Seaway Pipeline จะกลับมาเต็มกำลังที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน อีกครั้งภายในเวลา 1 สัปดาห์ หลังเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการปรับลดกำลังการขนส่งลงไปอยู่ที่ระดับ 175,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่กำลังจะมาถึงอาจส่งผลกดดันความต้องการใช้น้ำมันดิบ
ติดตามความพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมของนายเนทันยาฮูหลังจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมได้รับชัยชนะอย่างฉิวเฉียดรวมถึงนโยบายต่างประเทศต่อปาเลสไตน์และอิหร่าน หลังล่าสุดการเจรจาระหว่าง IAEAและอิหร่านยังไม่คืบหน้า ซึ่ง จะมีการเจรจากันอีกครั้งในวันที่ 12 ก.พ. นี้เพื่อหาข้อสรุปของการขอเข้าตรวจสอบแหล่งที่ตั้งโครงการพัฒนานิวเคลียร์หลังการเจรจาเมื่อวันที่ 16 ม.ค. ล้มเหลว