ทั้งนี้ดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังไม่ดี ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์อยู่ในระดับสูงกว่า 100 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอนาคตที่ดี ส่วนยอดคำสั่งซื้อโดยรวมและยอดขายโดยรวมยังอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 100
โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค.55 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 22.8% จากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำเช่นกัน ทำให้ภาพรวมทั้งปี 55 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.9% ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปหดตัว 6.5%
ส่วนในปี 56 สศอ.คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ จะขยายตัว 4.0-5.0% (จากฐานเงินบาทที่ 31 บาท/ดอลลาร์) ดัชนี MPI จะขยายตัว 3.5-4.5% โดยมีปัจจัยบวก คือ การบริโภคและการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัว จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ, การเติบโตประเทศเศรษฐกิจใหม่ ภูมิภาคเอเชีย และอาเซียน, แรงกดดันด้านราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ, นโยบายรถยนต์คันแรก ที่คาดว่าจะยังส่งผลเต็มที่ในปี 2556 และ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยทำให้อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
ด้านปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจากวิกฤตเศรษฐกิจ, ค่าแรง 300 บาท ที่มีผลใช้ทั่วประเทศในต้นปีที่ผ่านมา และการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึง 22 ม.ค.2556 ค่าเงนบาทแข็งค่า 2.53% ถือว่าแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งสศอ.มองว่าหากเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท หรือแข็งค่าขึ้น 3.26% จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งปี 2556 ลดลง 197,618 ล้านบาท ทำให้การส่งออกรวมลดลง 2.8% และส่งผลให้การขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมปี 2556 ลดลงประมาณ 1%
"สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการคือ 1.ทำอย่างไรไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไป 2.ต้องเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับประเทศคู่แข่งที่มีการส่งออกสินค้าประเภทเดียวกัน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ 3. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น 4. ทำอย่างไรจะลดการพึ่งพาการส่งออกและเร่งรัดการใช้จ่ายเงินลงทุนของภาครัฐ...วันนี้นโยบายต่างๆ ของภาครัฐในการอัดฉีดเม็ดเงินลงทุน เร่งรัดให้โครงการต่างๆของภาครัฐจะช่วยลดผลกระทบของการแข็งค่าของเงินบาทได้"นายณัฐพล กล่าว
ทั้งนี้สถานการณ์อุตสาหกรรมรายสาขาในปี 2556 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมเหล็ก คาดว่าจะมีความต้องการใช้เหล็กปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็ก สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่ดี ที่จะกระจายสินค้าไปยังตลาดในภูมิภาคอาเซียน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าการผลิตจะขยายตัวได้ร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจากมีความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้น ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ทำให้กำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากโรงงานประกอบรถยนต์ต้องเร่งผลิตเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า โดยมีปริมาณการผลิตราว 2.5 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 2.57% จากปีก่อน ยอดส่งออกจะอยู่ที่ 1.25 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 22.18% จากปีก่อน และยอดขายในประเทศจะลดลง 12.31% จากปีก่อน เนื่องจากสิ้นสุดนโยบายรถยนต์คันแรก
อุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ปี 2556 คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ประมาณ 5.5% เนื่องจากแม้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรป จากปัญหาหนี้สาธารณะ แต่ผู้บริโภคยังมีกำลังซื้ออยู่และปัญหาไม่น่าจะขยายตัวต่อไปยังตลาดนำเข้าอื่น ๆ มากนัก นอกจากนี้การจำหน่ายในประเทศจะยังช่วยประคับประคองภาคอุตสาหกรรม จากระดับการว่างงานที่ต่ำ และมีการปรับค่าแรงและเงินเดือน ส่งผลให้การบริโภคในประเทศยังคงมีการขยายตัวได้ในระดับหนึ่งสำหรับแนวโน้มการส่งออกปี 2556 คาดว่า จะขยายตัวจากปีก่อน 4.7%
ส่วนแนวโน้มการผลิตและการส่งออกในปี 2556 คาดว่าจะมีปัจจัยลบ อาทิ ความไม่แน่นอนในภาวะ เศรษฐกิจโลก รวมถึงวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มสหภาพยุโรป ที่ยังส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจและกลุ่มผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวก ซึ่งคาดว่าตลาดอาเซียนจะเติบโตได้ดี และตลาดเกิดใหม่ในกลุ่ม BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) จะเป็นตลาดสำคัญในการเติบโตของตลาดโลก ดังนั้น จากปัจจัยลบและปัจจัยบวกดังกล่าวจึงคาดว่าการส่งออกในปี 2556 อาจลดลงเล็กน้อย โดยคาดว่าการส่งออกเส้นใยฯ จะลดลงร้อยละ 2.07 เสื้อผ้าสำเร็จรูปจะลดลงร้อยละ 0.42 สำหรับผ้าผืน คาดว่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.30 ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียน