องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นตั้ง 4 พันธกิจ ตรวจสอบจำนำข้าว-ระบบน้ำ-โครงสร้างพื้นฐาน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 28, 2013 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) กล่าวว่า แผนปฏิบัติการในปี 56 จะยึดหลักการ ปลูกฝัง ป้องกัน และเปิดโปง ด้วย 4 พันธกิจ ได้แก่ 1.สร้างความน่าเชื่อถือขององค์กรฯ เป็นศูนย์กลางให้ความรู้ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อภาครัฐ รวมถึงการกระตุ้นจิตสำนึก ให้เกิดการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่มีศักยภาพสูงสุด 2.สร้างเครือข่ายการทำงานทั้งในประเทศและในระดับสากล เช่นการร่วมมือกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ออกกฏระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐให้รัดกุมโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ และการร่วมทำงานกับองค์กรอิสระต่างๆ

3.สนับสนุน ชี้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายทั้งในภาครัฐบาลและเอกชน เพื่อให้การต่อต้านคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและบังเกิดผล เช่นการผลักดันให้มีการแก้ไขกฏหมายคอร์รัปชั่น เช่น การยกเลิกอายุความของคดีคอร์รัปชั่น และให้มีกฏหมายที่จะลงโทษบริษัทฯเอกชนที่ทำการคอร์รัปชั่น เพื่อสร้างให้ประเทศไทยมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือและพร้อมสำหรับการลงทุนจากต่างชาติ และ 4.สร้างแรงจูงใจ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดต้นแบบของสังคม ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคล

นอกจากนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ จะร่วมมือกับภาคสื่อมวลชนในการเปลี่ยนทัศนคติ โดยการเผยแพร่สื่อสร้างสรรค์เรื่องจริยธรรมและการปลูกฝังให้ประชาชนร่วมมือกันไม่ยอมรับการคอร์รัปชั่น และยังจะร่วมมือส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของสื่อในการต่อต้านคอร์รัปชั่นอีกด้วย

ในปีนี้ทางองค์กรจะมีแผนปฏิบัติการภายใต้พันธกิจดังกล่าวที่จะเกาะติดโครงการคอร์รัปชั่น ติดตามเงินงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างต่างๆของภาครัฐเพื่อให้มีความโปร่งใสตั้งแต่เริ่มโครงการ เช่น โครงการรับจำนำข้าวที่จะเข้าไปตรวจสอบว่าเป็นการแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ เพราะเห็นว่าถึงแม้จะเป็นโครงการที่เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรก็ตาม แต่ก็ยังมีช่องโหว่ที่จะสามารถคอร์รัปชั่นได้

ขณะเดียวกันในเรื่องของการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อจัดทำโครงการระบบน้ำ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะมีการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท มองว่ายังมีช่องโหว่อีกหลายๆทางที่จะมีการคอร์รัปชันได้ เช่นมีการล็อคสเป็คผู้ที่เข้าประมูล การตรวจสอบหลังจากงานเสร็จอาจจะไม่ตรงกับสเป็คที่กำหนดไว้ จึงยังเป็นส่วนที่ต้องติดตามและตรวจสอบมากขึ้น เพื่อเป็นโครงการนำร่อง

ด้านนายธวัชชัย ยงกิตติกุล คณะกรรมการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการลักลอบนำเงินออกนอกประเทศ โดยสถาบัน Global Financial Integrity (GFI) ได้จัดทำรายงาน Illicit Financial Flows from Developing Countries มาติดต่อกันหลายปี รายงานฉบับล่าสุดใช้ข้อมูลในช่วงปี 2001-2010 เป็นข้อมูลของปรคะเทศกำลังพัฒนาต่างๆ รวม 143 ประเทศ โดยข้อมูลส่วนใหญมาจากรายงานทางสถิติของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)ที่รวบรวมจากรายงานของประเทศสมาชิกทั้งหมด

เมื่อคำนวณออกมาแล้วนั้นจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการลักลอบนำเงินออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก ในปี 2001 มีการลักลอบนำเงินออกนอกประเทศ 66,000 ล้านบาท แต่ในปี 2010 ลักลอบนำออกไปถึง 371,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า หากยังมีการลักลอบนำเงินออกเป็นจำนวนมากขนาดนี้ต่อไปเรื่อยๆจะส่งผลให้ประเทศยากจนลง โดยในช่วงเวลา 10 ปี มีการลักลอบนำเงินออกนอกประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับงบประมาณการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในระยะเวลา 6-7 ปีข้างหน้า หากนำเงินจำนวนนี้มาใช้จ่ายในโครงการเพื่อการศึกษาและสวัสดิการสังคมจะสามารถลดความยากจน และความเหลื่อมล้ำได้อย่างมาก

ขณะเดียวกันเมื่อนำตัวเลขมาวิเคราะห์คร่าวๆแล้วจะเห็นภาพค่อนข้างชัดว่าปัญหาการลักลอบนำเงินออกนอกประเทศนั้น เป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากคอร์รัปชั่น ที่มีอย่างกว้างขวาง และส่วนใหญ่เป็นการลักลอบออกจากประเทศยากจนไปสู่ประเทศที่ร่ำรวย หรือประเทศที่เป็นแหล่งฟอกเงิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ