ผู้ว่า ธปท.เผยยังไม่พบการเก็งกำไรระยะสั้นในค่าเงินบาทช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 29, 2013 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่พบเงินเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นทั้งในตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้ ซึ่ง ธปท.ยังติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ยอมรับว่าในอดีตเคยพบการเก็งกำไรค่าเงินของสถาบันการเงินต่างประเทศบางแห่ง ซึ่ง ธปท.ได้ลงโทษแล้ว เช่น ปรับ ยึดใบอนุญาต แต่ในปัจจุบันไม่พบการเก็งกำไรในลักษณะดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าค่าเงินบาทยังมีความผันผวนต่อไปจากปัจจัยต่างประเทศ โดย ธปท.ได้ติดตามค่าเงินบาท พร้อมกับพยายามสร้างสมดุลในการไหลเข้า-ออกของเงินทุน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ ขณะเดียวกัน มองว่าภาคเอกชนและผู้ส่งออกคงจะต้องมีการปรับตัวป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ด้วย เพราะ ธปท.คงไม่สามารถควบคุมให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับใดระดับหนึ่งได้

"ภาวะอย่างนี้ ค่าเงินยังผันผวนอยู่ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะหยุดเมื่อไร ระยะนี้ก็ต้องช่วยดูแลกันไปก่อน"ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่จะให้ลงทะเบียนผู้ลงทุนต่างประเทศที่จะนำเงินลงทุนเข้ามาลงทุนในไทย ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถใช้ดูแลค่าเงิน แต่สำหรับ ธปท.ยังไม่เห็นความจำเป็นและความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ เพราะอาจจะกระทบความเชื่อมั่นต่อ Fund Flow ที่เข้ามา ขณะที่ทางการจีนนำระบบนี้มาใช้ เพราะมีระบบการเงินแบบปิด และค่อยๆ เปิด ทำให้การนำเครื่องมือดังกล่าวมาดูแลค่าเงินมีความเหมาะสม แต่ไทยมีระบบการเงินแบบเสรี การนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้

สำหรับการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) ได้มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสภาอุตสาหกรรมในการดูแลค่าเงินบาท 6 ข้อจากที่เสนอมา 7 ข้อ ส่วนอีก 1 ข้อที่เสนอให้แยกบัญชีระหว่างเงินเข้ามาเก็งกำไร กับเงินที่เข้ามาลงทุนอย่างแท้จริง คงไม่สามารถทำได้ เป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ ซึ่งจะมีการหารือกับสอท. เรื่องนี้กันต่อไป

ขณะที่การส่งออกในเดือน ธ.ค. 55 ขยายตัวต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย นายไตรรัตน์ มองว่า ไม่ได้เกิดจากปัจจัยค่าเงินบาทอย่างเดียว แต่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกโดยรวมส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่อย่างไรก็ตามในปี 56 คงไม่สามารถระบุได้ว่าการส่งออกมีสัญญาณที่ดีหรือไม่ ยังเร็วไปที่จะประเมินผลกระทบจากค่าเงินบาทต่อภาพรวมการส่งออก รวมถึงการปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 56


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ