(เพิ่มเติม) ครม.ตั้งคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากขึ้นค่าแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 29, 2013 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ผ่านมา โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นทีปรึกษา, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รองประธานคนที่ 1, ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ รองประธานคนที่ 2

คณะกรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ปลัดกระทรวงพลังงาน, ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา และ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นต้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการจะดูแลปัญหาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะปัญหาสินเชื่อ ที่ผู้ประกอบการขาดหลักประกัน, ปัญหาต้นทุนสูง และปัญหาประสิทธิภาพและการผลิตต่ำ

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ประกอบด้วย 1.จะกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนกำหนดสาขาของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่จะได้รับความช่วยเหลือ

2.กำหนดกรอบการใช้เงินตามโครงการให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในลักษณะงบฉุกเฉินเร่งด่วน (Emergency Financing) หรือเป็นเงินอุดหนุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จนสามารถขอสินเชื่อมจากธนาคารพาณิชย์ของรัฐหรือเอกชนได้ เช่น การปรับโครงสร้างกิจการ การลดต้นทุนการผลิต และการแสวงหาตลาด

3.จัดทำแนวทางการจัดสรรและอนุมัติงบประมาณการใช้เงินตามโครงการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 2 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ แนวทาง และสาขาของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามข้อ 1.

4.จัดทำระเบียบ ประกาศ และคำสั่ง ตลอดจนหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเพื่อรองรับการปฏิบัติงาน

5.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

6.ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเชิงวิชาการ และการวิจัยในส่วนที่เกี่ยวข้อง

7.รายงานผลการปฏิบัติงานและปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานต่อนายกรัฐมนตรี

8.เชิญส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐอื่น และบุคคลที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็น หรือจัดส่งเอกสารหลักฐานเที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ

9.ดำเนินการอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ