ผู้เชี่ยวชาญชี้นโยบายการเงินเฟดต้นตอฉุดเศรษฐกิจสหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 30, 2013 09:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจอห์น เทย์เลอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ระบุในบทความทางหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อ้างถึงปัจจัยภายนอกว่าเป็นสาเหตุทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะซบเซา แต่เฟดเพิกเฉยต่อความเป็นจริงที่ว่านโยบายการเงินของเฟดเองที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศ

นายเทย์เลอร์กล่าวว่า เฟดได้เข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้น และในขณะนี้เฟดระบุว่ากำลังจะมีการเข้าซื้อล็อตใหญ่มากขึ้น เฟดคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ใกล้ 0% และในขณะนี้ได้ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกอย่างน้อยหลายปี

“อย่างน้อยที่สุด นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างมาก ประชาชนตระหนักว่าเฟดจะปรับเปลี่ยนแนวทางในท้ายที่สุด เมื่อเศรษฐกิจเริ่มร้อนแรงขึ้น เฟดจะต้องขายสินทรัพย์ที่ได้ซื้อไว้ เพื่อป้องกันเงินเฟ้อ" นายเทย์เลอร์ ซึ่งเป็นอดีตรมช.คลังสหรัฐ กล่าว

เขาตั้งข้อสังเกตว่า หากการขายสินทรัพย์ล่าช้าเกินไป เงินสำรองของเฟดที่ใช้ไปในการซื้อสินทรัพย์ในช่วงแรก จะหลั่งไหลสู่ธนาคารต่างๆและสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่หากการขายสินทรัพย์เกิดขึ้นเร็วเกินไปหรืออย่างฉับพลัน ก็จะฉุดราคาพันธบัตรลงและหนุนอัตราดอกเบี้ยขึ้นมากเกินไป ซึ่งจะเป็นสาเหตุของภาวะถดถอย

นับตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤตการเงิน เฟดได้ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ 3 รอบ ที่รู้จักกันในชื่อ QE1, QE2 และ QE3 และมาตรการ 2 รอบแรกได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ซึ่งเฟดได้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและ MBS กว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งหนุนงบดุลบัญชีสู่ราว 2.9 ล้านล้านดอลลาร์และจุดปะทุกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ นโยบายอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% ในปัจจุบันของเฟดยังสร้างแรงจูงใจสำหรับนักลงทุน ซึ่งรวมถึงผู้เกษียณอายุและกองทุนบำเหน็จบำนาญ ให้ทำการลงทุนที่น่ากังขา เนื่องจากพวกเขาต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นในความพยายามที่เพิ่มรายได้จากดอกเบี้ยที่น้อยนิด

การแสดงความคิดเห็นของนายเทย์เลอร์มีขึ้นก่อนที่เฟดจะแถลงมติการประชุมกำหนดนโยบายเป็นเวลา 2 วันที่จะสิ้นสุดในวันพุธ ตามเวลาสหรัฐ โดยนักวิเคราะห์คาดกันว่าเฟดจะยังคงตรึงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ