(เพิ่มเติม) "กิตติรัตน์"ยันไม่ใช้มาตรการภาษีหรือควบคุมการไหลเข้า-ออกเงินตปท.แก้บาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 30, 2013 14:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า รวมทั้งที่ประชุมทุกคนต่างมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้ และต้องการเห็นเงินบาทที่มีเสถียรภาพ

ดังนั้น ที่ประชุมฯ จึงมอบหมายให้ตนเองไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์และนักการเงิน

"ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ อ.พันศักดิ์ ดร.โกร่ง และเลขาสภาพัฒน์ฯ เห็นตรงกันว่าน่าจะมีการปรึกษากันเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ หรือนักการเงินว่าจำเป็นต้องดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างไร...ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้ผมไปหารือกับ ธปท.และ กนง." นายกิตติรัตน์ กล่าว

พร้อมกันนี้ ยืนยันว่าจะไม่ใช้วิธีควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินตราต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งโดยเด็ดขาด แต่จะใช้กลไกบริหารนโยบายการเงิน และยืนยันว่าไม่มีแนวทางจะใช้มาตรการภาษีที่จะมีผลกระทบกับผลตอบแทนการลงทุนด้วย

นายกิตติรัตน์ กล่าวด้วยว่า ธปท.รายงานต่อที่ประชุมในเรื่องการแข็งค่าของเงินบาทพบว่าเป็นช่วงสั้นๆ ที่เกิดจากเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้หรือพันธบัตรระยะสั้น แต่มองว่ายังมีความเสี่ยงเพราะเงินทุนที่ไหลเข้ามาดังกล่าวยังไม่มีหลักประกันว่าจะเป็นการเข้ามาลงทุนในระยะยาว ซึ่งเกรงว่าอาจจะมีผลกระทบในภาพรวมได้

นายกิตติรัตน์ เชื่อว่า ผู้ประกอบการบางส่วนสามารถแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง และในฐานะที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานขององค์กรก็จะเข้ามาช่วยเหลือดูแลกันเอง หรือไปปรึกษาหารือกับสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อให้เพื่อขอขยายเวลาชำระหนี้หรือปรับอัตราดอกเบี้ย

ส่วนกระทรวงแรงงานได้รายงานว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายได้หยุดกิจการไปก่อนที่จะเริ่มปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือขยายกำลังการผลิต ซึ่งถือว่ายังไม่มีอะไรผิดปกติ

ขณะที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการติดตามช่วยเหลือ SMEs ได้รายงานว่า เบื้องต้นจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมเป็นกรรมการเพิ่มเติม เช่น รมว.อุตสาหกรรม, รมว.พาณิชย์, กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เพื่อเข้ามาช่วยดูแล รวมทั้งการทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยด้วย ตลอดจนสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ และให้ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เข้ามาช่วยรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณผิดปกติ แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมที่จะรองรับหากมีปัญหาเกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ