“เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 บ่งชี้ถึงทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศ การผลิตและการส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 55 สามารถขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 5.7 ตามที่คาดการณ์ไว้เดิม" นายเอกนิติ กล่าว
นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/55 ขยายตัวได้ในระดับสูง ทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) โดยเครื่องชี้ด้านการบริโภคภาคเอกชน เช่น การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคมีการขยายตัวร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ก็มีการขยายตัวดีเช่นกัน
เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 43.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนรวมถึงภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวได้ดีอยู่ในระดับร้อยละ 45.2
ขณะที่การส่งออกในเดือน ธ.ค.55 การขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ส่งผลให้ไตรมาส 4/55 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 18.5 และขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ เครื่องชี้ทางด้านการผลิตก็พบว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 44.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 4.5 จากไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับภาคการท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 4/55 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.3 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.6 สำหรับการผลิตภาคการเกษตรในไตรมาสขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาส 3/55 โดยผลผลิตยางพารายังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่ผลผลิตข้าวเปลือกและมันสำปะหลังชะลอตัว เนื่องจากมีการเร่งการเก็บเกี่ยวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
ในส่วนของนโยบายการคลังยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้จ่ายของรัฐบาลในไตรมาส 4/55 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 60.5 ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจยังมีความมั่นคง โดยอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.4 ของกำลังแรงงาน เงินเฟ้อเร่งขึ้นเล็กน้อยและทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นปี 55 อยู่ในระดับสูงกว่า 181.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ