กสทช.แจกใบอนุญาตช่องรายการ-ทีวีดาวเทียม-เคเบิ้ลทีวี 632 ราย เตรียมคุมเข้มรูปแบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 30, 2013 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์(กสท.) กล่าวว่า การมอบใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ครั้งนี้เป็นการมอบใบอนุญาตตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ การให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ และการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ โดยประกาศลงในราชกิจจานุเภกษาเมื่อวันที่ 16 ต.ค.55 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค.55 เป็นต้นมา

โดยการมอบใบอนุญาตจะมี 2 ประเภท ได้แก่ 1.การให้บริการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ หรือช่องรายการ รวม 301 ราย ซึ่งจะมีอายุใบอนุญาต 1 ปี เนื่องจากต้องควบคุมเนื้อหา และรูปแบบรายการให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และผู้ให้บริการโครงข่ายฯ และ 2.การให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เช่นระบบ Cable TV ระบบ Satellite TV รวม 331 ราย มีอายุใบอนุญาต 15 ปี ซึ่งมีผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตรวมทั้งสิ้น 632 ราย

ส่วนที่เหลือในการให้บริการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ หรือช่องรายการ และการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ รวมถึงการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก หรือส่วนที่รองรับการเชื่อมโยงโครงข่าย เช่น เสาอากาศ สายอากาศ ระบบท่อ ระบบสาย รวม 400 กว่ารายนั้นยังอยู่ในการพิจารณาไม่แล้วเสร็จ โดยยังเหลือในเรื่องของการขาดคุณสมบัติทางการเงินเป็นหลัก และการได้มาของลิขสิทธิ์ที่ไม่ถูกต้อง และเมื่อสามารถออกใบอนุญาตได้แล้วทาง กสทช.จะมีจดหมายแจ้งไปให้ผู้ประกอบกิจการเดินทางมารับ ณ สำนักงาน กสทช. ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาเสร็จได้ปลายเดือน ก.พ.หรือต้นเดือน มี.ค.นี้

ประธาน กสท. กล่าวว่า ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่จะมีการควบคุมรูปแบบการประกอบกิจการของช่องทีวีการเมืองทุกช่อง ซึ่งผู้ประกาศ ผู้ดำเนินรายการมีการใช้คำพูดลักษณะ Hate speech อย่างเข้มงวด ทั้งนี้คาดว่าผู้ประกอบกิจการช่องการเมืองเมื่อได้ใบอนุญาตประกอบกิจการไปแล้วก็จะเริ่มปรับตัวเข้าสู่ระบบอย่างพร้อมเพรียงกัน

"ขอความกรุณาช่องรายการทางการเมืองท่านที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว ควรให้แก้ไขปรับปรุง โดยอย่าให้มีการยั่วยุ ชี้นำ ปุปั่น ไปในทางที่ก่อให้เกิดความแตกแยก หรือล้มล้างระบอบประชาธิปไตย จนนำไปสู่ในสังคมความเป็นมนุษย์ที่ด้อยค่าลง อยากให้ท่านทั้งหลายปรับตัวด้วย ถ้าได้รับใบอนุญาตไปแล้ว กรุณาอย่าทำอะไรที่มันละเมิด" พ.อ.นที กล่าว

อย่างไรก็ตาม การควบคุมช่องรายการต่างๆ จะเป็นการใช้ระบบการรับเรื่องร้องเรียนเป็นหลัก ซึ่งจะมีเครือข่ายผู้บริโภคที่จะช่วยสอดส่องดูแลอีกทางหนึ่ง

น.ส.ศันสนีย์ นาคพงค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนากิจการโทรทัศน์มาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2493 ที่เป็นโทรทัศน์จอขาว-ดำ และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นจอสี ซึ่งขณะนั้นรัฐได้เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการประกอบกิจการในหลายรูปแบบ ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างมาก ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดอย่างมาก

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมากและมีผู้ที่เปิดให้บริการช่องรายการกว่า 300 ราย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ด้านสิทธิและเสรีภาพของประเทศไทย

สำหรับการเปลี่ยนแปลงในวันนี้จะเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลที่มีประสิทธิภาพและมีความหลากหลาย, มีโครงสร้างที่หล่อหลอมรวมสื่อไว้ด้วยกัน, เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ เข้ามาบริหารและมีบทบาทในกิจการโทรทัศน์และมีการก้าวเข้าสู่ความเป็นสากลมากขึ้น

รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในฐานะรัฐบาลมีหน้าที่ให้การสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น ควบคู่ไปกับการนำคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นสมบัติของชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านการกำกับดูแลของ กสทช. โดยรัฐบาลจะให้ความร่วมมือประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความเป็นสากลทัดเทียมกับนานาประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ