เนื่องจากปัจจุบันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายสินค้าละเมิดจากร้านค้า แผงลอย หรือตามตลาดนัด ไปเป็นการละเมิดผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่ต้องจ่ายค่าคุ้มครอง ไม่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่ และจับกุมได้ยาก โดยมีการขายสินค้าที่ละเมิดเครื่องหมายการค้า ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการอัพโหลด หรือดาวน์โหลด เพลง ภาพยนตร์ ซอฟต์แวร์ เกม ผ่านช่องทางต่างๆ มากขึ้น เช่น ฟรีเว็บบอร์ด โดยนำข้อมูลละเมิดมาใช้ดึงดูดให้ผู้เข้ามาใช้งาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ยังมีการละเมิดผ่านไซเบอร์ ล็อกเกอร์ คือเว็บไซต์สำหรับฝากข้อมูลเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อโซเชียล เน็ตเวิร์ก รวมถึงการส่งไฟล์ข้อมูลผ่านไฮไฟว์, เฟซบุ๊ก, อีเมล์ การดาวน์โหลดผ่านโปรแกรมบิททอร์เรนท์จากต่างประเทศ ผ่านทอร์เรนท์ แทรกเกอร์ และเซิร์ฟเวอร์ ตลอดจนการขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ซีดี เสื้อผ้า เครื่องหนัง นาฬิกา รวมถึงยา และสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้บริโภค
"การจัดเวิร์กช็อปครั้งนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความรู้การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบใหม่ และรู้เท่าทันสถานการณ์การละเมิดมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีให้เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาได้รับความคุ้มครองสิทธิเพิ่ม และก่อให้เกิดการลงทุนประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาสินค้าชนิดใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เป็นการป้องกันการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ได้รับอันตรายจากสินค้าปลอม สำหรับครั้งต่อไปจะจัดสัมมนาต่อที่ จ.นครปฐม และ จ.สุราษฎร์ธานี" นายณัฐวุฒิ กล่าว